“โรคไตวาย” คือสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่เมืองคีอังก้า ประเทศเคนย่า ต้องเผชิญอย่างหนักเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ผู้คนต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้ทั้งเมืองต้องดื่มน้ำจากบ่อน้ำเค็มซึ่งเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไตวายเป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้น เด็ก ๆ ก็ต้องสวมเสื้อผ้าที่ซักจากน้ำเกลือที่อาจทำให้เกิดแผลตามผิวหนังใต้ร่มผ้าก่อให้เกิดปัญหาโรคผิวหนังตามมา โดยทางออกอย่างยั่งยืนของเรื่องนี้ คือต้อง “เปลี่ยนน้ำทะเลเป็นน้ำจืด” เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของชาวเมืองให้ดีขึ้น
ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 โครงการที่มีชื่อว่า “Give Power” ซึ่งเป็นโครงการไม่แสวงหาผลกำไรภายภายใต้การกำกับดูแลของบริษัท Tesla ถูกตั้งขึ้น เพื่อหวังแก้ไขปัญหาเรื่องของการอุปโภค บริโภคน้ำเค็มของชาวเมืองอย่างยั่งยืน โดยนำแบตเตอรี่ Powerwall ผสานเข้ากับแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำดื่มด้วยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ได้สำเร็จเป็นเจ้าแรก เพื่อมอบให้กับเมืองคีอังก้า ที่ตั้งอยู่ริมชายฝั่ง ประเทศเคนย่า
ที่ผ่านมานักวิจัยทั่วโลกพยายามคิดค้นวิธีเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดมาแล้วหลายวิธี แม้ว่าสามารถทำได้แล้วก็จริง แต่ต้องใช้พลังงานและค่าใช้จ่ายมหาศาล จึงไม่เหมาะกับชุมชนหรือพื้นที่ขาดแคลนอย่างแน่นอน คุณเฮย์ส เบนาร์ด (Hayes Baynard) ประธานโครงการ Give Power กล่าวถึงความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “จะทำอย่างไรก็ได้ เพื่อนำเกลือออกจากน้ำทะเลและเปลี่ยนเป็นน้ำจืด จากนั้นก็ส่งต่อให้กับผู้คนที่ขาดแคลนในราคาถูกและยั่งยืนที่สุด”
Give Power ใช้ระบบกรองน้ำทะเลนอกระบบ (Off-Grid Desalination System) โดยเครื่องจะดึงน้ำทะเลจากมหาสมุทรอินเดียผ่านเข้าเครื่องกรองและแปลงออกมาเป็นน้ำสะอาด แถมยังสร้างความยั่งยืนด้วยการติดตั้งปั๊มคู่ เพื่อให้แน่ใจว่าปั๊มสามารถทำงานได้ตลอดเวลา หากมีปั๊มตัวใดตัวหนึ่งหยุดทำงาน หรือต้องซ่อมบำรุง ในส่วนของแผงโซลาร์เซลล์ Powerwall สามารถเก็บพลังงานในเวลากลางวันอย่างเพียงพอสำหรับกรองน้ำในตอนกลางคืน โดยในแต่ละวันโรงงานนี้จะผลิตน้ำสะอาดได้วันละ 20,000 แกลลอน เพียงพอสำหรับผู้คนในเมืองที่มีจำนวน 35,000 คน นอกจากนี้ ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับผู้คนในเมืองด้วย
Give Power จึงถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ขาดแคลนด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือ “ความยั่งยืน” และสามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้จริง
ขอขอบคุณ : https://www.flagfrog.com/tesla-solar-panels-drinking-water-kenya/
Comentarios