top of page

ศักยภาพหญ้าเนเปียร์กับการเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดชีวภาพ


ใครจะเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะสร้างไฟฟ้าได้จากพืชผลทางการเกษตรได้ ซึ่งแน่นอนก่อนจะนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนในทุกวันนี้ เราคงต้องผ่านกระบวนการการเรียนรู้และทดลองจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงในทุกการทดลองคือ “สารตั้งต้น” หรือ “วัตถุดิบเชื้อเพลิง” เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการถัดไป จนในที่สุดเราก็สามารถนำพืชผลทางการเกษตรไปสู่การผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้

หญ้าเนเปียร์ (NAPIA) รู้จักกันในหลายๆ ชื่อ เช่น หญ้ายักษ์ (Giant King Grass) และหญ้าเลี้ยงช้าง ถือเป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงที่สามารถนำมาผลิตเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาดชีวภาพได้ เนื่องจากคุณสมบัติหลายประการที่เอื้ออำนวยในการนำมาเป็นเชื้อเพลิง และยังมีการปรับปรุงพันธุ์จึงทำให้หญ้าเนเปียร์โตเร็วกว่า มีจำนวนมากกว่า


หญ้าเนเปียร์เป็นพืชอีกชนิดที่เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย เพราะชอบโตในพื้นที่แบบ “นาดอน” ซึ่งมีความเหมือนกับหญ้าอีกหลายๆ ชนิด ซึ่งก็มีหลายพันธุ์ยกตัวอย่างเช่น พันธุ์ปากช่อง 1 ซึ่งหลายปีก่อน ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์นครราชสีมาได้ร่วมกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ผสมพันธุ์หญ้าเนเปียร์จากแอฟริกาซึ่งเติบโตเร็วกับหญ้าท้องถิ่นพันธุ์ไข่มุกซึ่งหาอาหารเก่ง จนได้หญ้าเลี้ยงสัตว์ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่เจริญเติบโตเร็ว ผลผลิตสูง ตอบสนองต่อน้ำและปุ๋ยได้ดี และตั้งชื่อว่า “หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1”


ประโยชน์ของหญ้าเนเปียร์มีหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น การใช้เซลลูโลสเหลว เพื่อผลิตเอทานอลและบิวทานอล การผ่านกระบวนการ Pyrolysis เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ การเป็นสารเร่งปฏิกิริยา (Catalytic) ในการผลิตไบโอดีเซล การใช้เป็นวัตถุดิบผลิตพลาสติกชีวภาพ (Bio-Plastic) และชีวเคมี และที่สำคัญที่หลายฝ่ายกำลังจับตามอง คือการถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิง หรือวัตถุดิบชีวภาพ ซึ่งสามารถนำมาใช้ทั้งในรูปแบบ เชื้อเพลิงชีวภาพ (Biomass) สำหรับผลิตไฟฟ้า และแบบก๊าซชีวภาพ (Biogas) ซึ่งผ่านกระบวนการหมักให้เกิดก๊าซ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า หรือผลิตความร้อน


ซึ่งในเชิงพลังงานสะอาดแล้ว ภาคเอกชนทั้งบริษัทเล็กหรือใหญ่ รวมทั้งมหาวิทยาลัยบางแห่งได้มีการทดลองปลูกและทดสอบความคุ้มค่าบ้างแล้ว เช่น มีข้อมูลว่าถ้านำมาหมักเป็นก๊าซชีวภาพ อายุการตัดน่าจะอยู่ที่ 45-60 วัน และควรจะให้ปุ๋ยและน้ำให้เพียงพอ เพื่อหญ้าจะมีความหวานและหมักก๊าซได้มาก แต่ถ้าจะใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าโดยทำให้แห้งก่อน อายุการตัดอาจต้องรอถึง 4 เดือน เนื่องจากเมื่อหญ้ามีอายุมากขึ้นความชื้นของต้นจะลดลง และให้ค่าความร้อนสูงขึ้น และหลายการทดลองถูกนำมาเป็นโมเดลในการเปลี่ยนพื้นที่ทางการเกษตรหลายแห่ง เพื่อปรับเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าเนเปียร์


ส่วนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีบริษัทหนึ่งได้พยายามส่งเสริมการปลูกหญ้ายักษ์ (Giant King Grass) ซึ่งเหมือนกับหญ้าเนเปียร์เกือบ 100% ในเขตอบอุ่นใกล้เส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกับประเทศในอาเซียน เพื่อใช้ Giant King Grass เป็นพลังงานสะอาด แต่เนื่องจากหญ้ายักษ์ผลผลิตสูงแต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็นเหมือนข้าวโพดและหญ้ามิสแคนทัส (ตระกูลเดียวกับหญ้ายักษ์) จึงทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่อปีน้อยจนอาจไม่ถึง 20 ตัน เนื่องจากหญ้ายักษ์ชอบพื้นที่อบอุ่น ข้อได้เปรียบของตระกูลหญ้ายักษ์ทั้งหลาย คือ สามารถปลูกเป็นร่องเป็นแนว สามารถใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวได้สะดวก


“หญ้าเนเปียร์” จึงถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เหมาะสมกับการปลูกในประเทศไทย ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อมีการผลักดันอย่างเต็มประสิทธิภาพ ศักยภาพของหญ้าเนเปียร์คงไม่ใช่แค่นำมาเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบ ด้านพลังงานเท่านั้น แต่จะสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร และผู้ที่ใช้พลังงานสะอาดชีวภาพได้เป็นอย่างดี ตามแผนสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่อยากเห็นการใช้พลังงานสะอาดเข้าไปมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น



bottom of page