top of page

ศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร



รีวิวท่องเที่ยว (10/10)

ศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร


หากใครผ่านไปแถวชายหาดชะอำทางเชื่อมไปหัวหิน คงต้องเคยแวะเวียนไปเช็คอิน ถ่ายรูปที่ “พระราชวังมฤคทายวัน” กันบ้าง ณ ค่ายทหารพระรามที่ 6 และนอกจากความงดงามของพระราชวังเดิมแล้ว ที่นี่ยังมี “ศูนย์การเรียนรู้พลังงานชุมชน อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร” ให้ได้เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาดอีกด้วย


สิ่งแรกที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้เลย คือหลังคาลานจอดรถยนต์ขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ที่แสดงให้เห็นว่าเรื่องของพลังงานสะอาดเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ๆ และอยู่กับเราในทุกที่ นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งระบบสาธิตและนวัตกรรมพลังงานภายในพื้นที่ “สวนพลังงานสีเขียว” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นต้นแบบการเรียนรู้สำหรับชุมชนที่สามารถนำไป ใช้งานได้จริง โดยแบ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็น 11 ฐานการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น รถรับส่งพลังงานแสงอาทิตย์ ตู้อบเรือนกระจกพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำร้อนจากเครื่องปรับอากาศ ระบบเตาพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบน้ำร้อนแสงอาทิตย์ ระบบแก๊สซิไฟเออร์ผลิตก๊าซเชื้อเพลิงชีวมวล ระบบก๊าซชีวภาพขนาดเล็ก กังหันลม แบบจำลองระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ และ แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตามดวงอาทิตย์ (Solar Tracking System) ให้ได้เรียนรู้และไปปรับประยุกต์ใช้กับชุมชนจริง


ไฮไลท์สำคัญในส่วนของฐานการเรียนรู้ “สวนพลังงานสีเขียว” ที่นักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้ศึกษาดูงานมักให้ความสนใจเป็นพิเศษ มี 3 ฐานการเรียนรู้ด้วยกัน


#รถพลังงานแสงอาทิตย์ รถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นรถไฟฟ้าขนาดเล็กที่ช่วยลดการใช้ น้ำมันและไฟฟ้า เนื่องด้วยเมืองแผงเซลล์แสงอาทิตย์รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ จะแปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่ และนำพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง โดยผ่านการควบคุมสัญญาณความกว้างพัลส์เพื่อไปควบคุมการจ่ายพลังงานไฟฟ้า จึงทำให้สามารถควบคุมรถให้ช้าหรือเร็วได้ มีขนาด 4 ที่นั่ง 2 ตอน ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาด 340 วัตต์ บนหลังคา น้ำหนักรถโดยประมาณ 200 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุก 400 กิโลกรัม มอเตอร์ขับ 48 โวลต์


#ระบบแก๊สซิไฟเออร์ผลิตก๊าซเชื้อเพลิงชีวมวล เมื่อ“ชีวมวล” เป็นสิ่งที่พบได้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จึงไม่แปลกที่ฐานนี้จะมีผู้คนสนใจจำนวนมาก เทคโนโลยีแก๊สซิไฟเออร์ที่จัดแสดงนี้เป็นแบบเชื้อเพลิงนิ่ง หรือ Fixed Bed Gasifier ซึ่งเป็นเตาที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน โดยมีอุปกรณ์หลัก ๆ 4 ส่วน คือ ระบบเตาผลิตก๊าซชีวมวล ระบบป้อนเชื้อเพลิง ระบบทำความสะอาดก๊าซเบื้องต้น และพัดลมดูดก๊าซ หัวเผาก๊าซ โดยมีหลักการทำงานแบบการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงชีวมวล (Gasifier) แบบอากาศไหลขึ้น เป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงในที่จำกัดปริมาณอ

ากาศให้เกิดความร้อนบางส่วน แล้วไปเร่งปฏิกิริยาต่อเนื่องอื่นๆ เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงแข็งให้กลายเป็นก๊าซเชื้อเพลิง เพื่อความร้อนหรือใช้เพื่อผลิตเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาดสำหรับสูบน้ำ หรือพละกำลังขับเครื่องจักรกลในทางการเกษตร เหมาะกับชนบทที่อยู่ห่างไกล ทำให้เกษตรกรสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เอง


#แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตามดวงอาทิตย์ (Solar Tracking System) เป็นระบบที่ทำให้แผงโซลาเซลล์ในระบบพลังงานสะอาดแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ตามดวงอาทิตย์ได้ ตั้งแต่เช้าถึงเย็นโดยอัตโนมัติ ทำให้ได้รับแสงอาทิตย์และเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยเป็นระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนัก (Water Weight Tracking System) คือ ใช้น้ำเป็นตัวกลางในการถ่วงน้ำหนัก มีชุดเซ็นเซอร์ทำหน้าที่เป็นตัวตรวจจับตำแหน่งดวงอาทิตย์ เพื่อส่งให้ระบบควบคุมปล่อยน้ำออกจากชุดถ่วงน้ำหนัก กำลังผลิตขนาด 370 วัตต์ มีจำนวน 2 แผงๆ ละ 185 วัตต์


รับรองเลยว่าการท่องเที่ยววิถีใหม่ เรียนรู้ เข้าใจในการใช้พลังงานสะอาด จะทำให้คุณ คนรัก ครอบครัว หรือเพื่อนๆ มีแรงบันดาลใจและมุมมองใหม่ ๆ เพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เฉกเช่นปณิธานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่อยากเห็นคนไทยใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นในทุกพื้นที่อย่างยั่งยืน


Comments


bottom of page