top of page

โลกเปลี่ยน ถึงเวลาต้องปรับ 😄รับยุค Disruption คาร์บอนต้องเป็นศูนย์ ⛅️


👉ทุกวันนี้สถานการณ์สภาวะ “โลกรวน” หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติน้ำแล้ง พายุ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงมากขึ้น

.

เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ⛅️ ทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทยต้องทำหน้าที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ หรือที่เรียกว่า Net Zero Emission โดยเร็วที่สุด ซึ่งถือเป็นพันธกิจที่ประชาคมโลกต้องช่วยกันผลักดัน โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการบรรลุ Net Zero ทั่วโลก ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม🏭🏗

.

ด้วยเหตุนี้แผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ของไทย จึงมุ่งเป้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ด้วยนโยบาย 4D1E เพื่อรองรับยุคดิสรัปชันที่ส่งผลกระทบต่อวงการพลังงาน ที่มุ่งสู่การเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ อันประกอบด้วย

.

DIGITALIZATION การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น ต่อไปจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยให้จ่ายไฟได้เร็วขึ้น เรียกว่า Smart Grid ซึ่งเป็นระบบส่งจ่ายกำลังไฟฟ้าอัจฉริยะเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาเปลี่ยนรูปแบบการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้มีความทันสมัย รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าตามผลการวิเคราะห์และประมวลผลของซอฟต์แวร์ ทำให้ผู้ใช้บริการเห็นถึงประโยชน์ที่ได้รับและสามารถตระหนักในความสำคัญของการลดพลังงานและใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

พร้อมสนับสนุนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (ESS : Energy Storage System) ที่เปรียบเสมือน Power Bank ที่ช่วยกักเก็บพลังงาน ลดความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็น เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้าทั้งในชุมชนและโรงไฟฟ้า พร้อมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าในอาเซียน เพื่อรองรับการเป็นเทรดเดอร์ หรือการเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาคอีกด้วย

.

DECARBONIZATION การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล เช่น การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานจากพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน กฟผ. หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid ซึ่งถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยนำร่องแห่งแรก ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี

.

นอกจากนี้ยังหนุนนโยบายให้ภาคพลังงานดูดซับสินค้าการเกษตรส่วนเกินมาผสมน้ำมันเพื่อลดคาร์บอน และยังช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตร ผ่านการผลิตและใช้น้ำมันไบโอดีเซล B7 B10 และ B20 ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งช่วยลดควันดำ, ลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ลดฝุ่นละออง ฝุ่น PM2.5 และลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์

.

DECENTRALIZATION สนับสนุนการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าผ่านระบบสายส่ง และนอกระบบสายส่ง เพื่อให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันในรูปแบบ Peer to Peer (P2P) รวมทั้งสนับสนุนให้จัดตั้งโรงไฟฟ้าระดับชุมชน เพื่อสร้างความสมดุลของพื้นที่ไฟฟ้าในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ยังจะมีการสำรวจและจัดทำแผนที่เครือข่ายพลังงานทั่วประเทศให้มีความชัดเจนในการเชื่อมโยงโรงไฟฟ้าระดับชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลของพื้นที่ไฟฟ้าทุกภูมิภาค

.

DE-REGULATION เปิดโครงการ Sandbox เพื่อเป็นพื้นที่เฉพาะให้สามารถพัฒนา และทดสอบนวัตกรรมด้านพลังงานได้โดยผ่อนปรนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัปด้านพลังงาน ตลอดจนแก้ไขกฎเกณฑ์ในการนำเงินจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มาใช้สนับสนุนธุรกิจพลังงานชุมชน เพื่อปลดล็อกให้พลังงานที่ผลิตจากภาคประชาชนสามารถเข้าสู่ Grid ได้

.

ELECTRIFICATION การใช้พลังงานไฟฟ้าช่วยลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการโซลาร์เซลล์ ที่เกาะยาว จ.พังงา ที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมกลุ่มฝ่าฟันวิกฤตขาดแคลนพลังงานในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยได้ตั้งกลุ่ม “Doing” เกาะยาว ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด โดยมียุทธศาสตร์ในการนำพลังงานสะอาดนี้ ไปใช้ประโยชน์ ทั้งในภาคประมง ที่นำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้จัดการในส่วนของแบตเตอรี่ลิเทียม และระบบชาร์จจากพลังงานโซลาร์เซลล์ เช่น ธนาคารปูม้าไข่นอกกระดองบ้านแหลมไทร ที่ได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานระบบโซลาร์เซลล์ซึ่งอยู่กลางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

ในส่วนภาคการท่องเที่ยว มีการให้ความรู้และช่วยเหลือในการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์สำหรับร้านค้าหรือรีสอร์ต เพื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ รวมทั้ง ภาคการเกษตร ที่มีการจัดทำแปลงสาธิตให้เกษตรกรเข้าถึงการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ได้ ช่วยลดต้นทุนในการผลิตและยกระดับการทำเกษตรของชาวบ้านอีกด้วย ทั้งยังประยุกต์ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมเกาะยาวน้อย ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบติดตั้งพลังงานโซลาร์เซลล์ เพื่อคนในชุมชนและประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด เป็นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน 🍀😄

.

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นอีกความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้ประเทศไทยของเราเดินหน้าเข้าสู่การเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพราะนาทีนี้ใครไม่ Change Climate Change และทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา !! 🌏😊😘

.

ที่มา : https://tdri.or.th/2021/10/thailand-netzero-cop26

https://www.energynewscenter.com/กุลิศชูนโยบายพลังงาน-4d1eร

bottom of page