top of page

👩‍🌾เกษตกรรมตัวการสำคัญของฝุ่น PM2.5 จริงหรือไม่❓


เมื่อลมหนาวที่ทุกคนเฝ้าคอยไม่ได้มาพร้อมความเย็นฉ่ำเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป จะเห็นได้ว่าหลายปีที่ผ่านมา นอกจากอากาศเย็นที่นำความสดชื่นมาให้แล้ว ค่าฝุ่น PM2.5 มักจะแวะมาเช็กอินพ่วงเป็นของแถมในช่วงฤดูหนาวอยู่เสมอ จากที่เคยเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขสดชื่น ฤดูหนาวกลับกลายเป็นช่วงเวลาที่ไม่ค่อยน่าโสภาเท่าไรนัก


เหตุที่ฝุ่น PM2.5 มักจะมาในช่วงฤดูหนาวนั้นเป็นเพราะสภาพอากาศในช่วงฤดูหนาวนั้นมีความนิ่งมากกว่าฤดูอื่น ทำให้มีความเอื้อต่อการกักตัวของฝุ่นละอองในเมืองใหญ่ๆ


แล้วฝุ่น PM2.5 คืออะไร อันตรายขนาดไหน หลายคนอาจรู้ แต่อาจมีคนที่ยังไม่รู้ว่า ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ ลอยในอากาศได้นานและไกลถึง 1,000 กิโลเมตร และอาจมีสารพิษที่เกาะมาด้วย หากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ล่องลอยอยู่ในอากาศปริมาณมาก จะเห็นท้องฟ้าเป็นสีหม่น หรือเกิดเป็นหมอกควัน


ส่วนฝุ่น PM2.5 อันตรายมากน้อยเพียงใดนั้น คำตอบคือ ฝุ่นจิ๋วที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนนี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ


สาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่น PM2.5 ล้วนมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “การเผาในภาคการเกษตร” แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักเพียงสาเหตุเดียวของการเกิดฝุ่น PM2.5 แต่ก็ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะเป็นการเผานา หรือเผาพืชไร่ต่างๆ ล้วนสร้างมลพิษทั้งสิ้น


ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมในระบบ VIIRS เพื่อการติดตามจุดความร้อนบนพื้นผิวโลกบ่งบอกว่า จุดความร้อนจากพื้นที่ที่ถูกจัดว่าเป็นพื้นที่เกษตรประเภทข้าว อ้อย และข้าวโพด (พร้อมไร่หมุนเวียน) คิดเป็นอย่างน้อยร้อยละ 26.8 ของจุดความร้อนทั้งหมดในประเทศไทยช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 และหากรวมจุดความร้อนจากพื้นที่เกษตรอื่นเข้าไปด้วย สัดส่วนนี้จะเพิ่มเป็นอย่างน้อยร้อยละ 35.9 หรือกว่า 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมด


กรีนพีซ ประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานผลการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างปี พ.ศ. 2558-2562 ในอนุภาคลุ่มน้ำโขง (ภาคเหนือตอนบนของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา) ร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสะท้อนความสำคัญว่าจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกข้าวโพดนั้นคิดเป็นร้อยละ 30 ของจุดความร้อนทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนจุดความร้อนที่เหลือพบในพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่เกษตรอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่ปลูกข้าวโพด


อีกสิ่งหนึ่งที่มักถูกกล่าวถึงในเรื่องปัญหาการเผาของภาคเกษตรกรรมคือ กระบวนการเผาตอซัง โดยเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ จะเหลือส่วนลำต้นของข้าวไว้ในพื้นที่นา ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกกันว่า “ตอซัง” โดยการนำตอซังออกจากนานั้น หากใช้วิธีการไถด้วยเครื่องไถจะเป็นวิธีการที่เพิ่มทั้งต้นทุนและแรงงาน หรือถ้าจะปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติก็ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 15-20 วัน เพื่อให้การปลูกข้าวดำเนินต่อไปได้อย่างทันท่วงที ทางเลือกที่ดีที่สุดของชาวนาจึงหนีไม่พ้นการเผา อันเป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงฝุ่นควันขนาดเล็กที่มีทั้ง PM2.5 และ PM10 ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทั้งชาวนาและผู้คนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ปัจจุบันจึงมีการกำหนดโทษให้การเผา เป็นความผิดอาญาฯ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


🌾สำหรับพื้นที่เกษตรกรรมของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลาง ฝุ่นควันจากภาคเกษตรกรรมที่กระจายอยู่ในอากาศ จึงอาจถูกลมพัดพามารวมอยู่ในกรุงเทพฯ จนเกิดเป็นเหตุมลภาวะ PM2.5 ที่แสดงค่าสีแดงเข้มอย่างที่กำลังประสบกันอยู่


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร (2566) พบว่า การเผาในที่โล่ง มีผลกับการเกิดปัญหามลภาวะ PM2.5 เพียง 6% เท่านั้น และแน่นอนว่าไม่ใช่การเผาทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากเกษตรกร ถ้าจะชัดเจนคือข้อมูลได้มีการชี้ว่า PM2.5 มาจากภาคเกษตรกรรมเพียงแค่ 1% ซึ่งอันดับหนึ่งไปตกอยู่ที่การเผาไหม้เครื่องยนต์ดีเซลที่ 51% และที่สองคือโรงงานอุตสาหกรรมที่ 21%


จากข้อมูลจึงเห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่แค่ภาคเกษตรกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษขนาดจิ๋วล่องลอยอยู่ในอากาศจนกลายเป็นต้นเหตุแห่งมลพิษซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากการกระทำของพวกเราเองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการจุดเตาถ่าน การปิ้งย่างอาหาร การสูบบุหรี่ ล้วนเป็นต้นเหตุของการสะสมมลพิษทางอากาศที่ส่งผลให้เกิดเป็นฝุ่น PM2.5 ได้


นอกจากเราจะสามารถป้องกันตัวเองจากปัญหาฝุ่นพิษขนาดจิ๋วด้วยการใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานในการป้องกันฝุ่นโดย


เพราะฉะนั้นแล้ว หนทางที่ดีที่สุดคือการแก้ไขจากต้นเหตุของการปัญหา คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะไม่กระทำให้เกิดฝุ่น อย่าง การลดการเผา ไม่ว่าจะเป็นการเผาจากภาคการเกษตร หรือการเผาขยะ หันมาช่วยกันปลูกต้นไม้ฟอกอากาศ หมั่นตรวจเช็กสภาพรถยนต์ไม่ให้เกิดควันดำ หรือเปลี่ยนมาใช้รถ EV พลังงานทางเลือก รวมถึงการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ พลังงานหมุนเวียนที่สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดของกพพ. หรือจะให้ดีที่สุดคือ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแล้วเปลี่ยนมาใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่ช่วยลดทั้งปริมาณการเกิดฝุ่น และลดปริมาณลดรถยนต์บนท้องถนน ที่ส่งผลไปถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดได้อีกด้วย



ที่มา :





bottom of page