top of page

หากไม่หยุดทำร้ายโลกวันนี้ 🌏อีกไม่เกิน 80 ปี “เพนกวิน” 🐧จะสูญพันธุ์❗


เมื่อโลกต้องเผชิญกับผลกระทบจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหนักหน่วงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพายุฝนถล่ม น้ำท่วม ลมกรรโชก อากาศร้อนแบบสุดขั้ว ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ภัยแล้งรุนแรงจนส่งผลต่อการทำเกษตรกรรม และอื่นๆ อีกมากมายที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในทั่วทุกมุมโลก รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไม่เว้นกระทั่ง “เพนกวินจักรพรรดิ” สัตว์โลกตัวจ้อยหน้าตาน่าเอ็นดูผู้ประสบเคราะห์กรรม โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจสูญพันธุ์ หรือหายไปจากโลกนี้ภายในปี 2100 หรือในอีกไม่เกิน 80 ปีนี้!


👉ก่อนเพนกวินน้อยจะสูญพันธุ์ เรามารู้จักสัตว์โลกน่ารักชนิดนี้ให้ดีขึ้นก่อนดีกว่า…


“เพนกวินจักรพรรดิ” หรือ Emperor Penguin คือสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดของเพนกวิน ตระกูลเดียวกับ “นก” แต่ได้ชื่อว่าเป็นนกที่บินไม่ได้ โดยมีความสูงราว 122 ซม. น้ำหนักประมาณ 22-37 กก. มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา กินปลา และสัตว์ประเภทกุ้ง กั้ง ปู รวมถึงเคยและหมึกเป็นอาหาร สามารถดำน้ำได้ลึกถึง 535 เมตร และอยู่ใต้น้ำได้นานถึง 18 นาที เป็นสายพันธุ์ที่รู้จักกันดีจากการเดินทางออกจากฝั่งทะเลราว 50 ถึง 120 กม. เพื่อไปหาคู่ผสมพันธุ์ กกไข่ ฟักไข่ และเลี้ยงลูกเพนกวินน้อยที่เกิดใหม่ 🐧


เป็นเพนกวินชนิดเดียวที่ผสมพันธุ์ในช่วงฤดูหนาวแบบอาร์กติก แหล่งผสมพันธุ์อาจจะเป็นบริเวณกว้างใหญ่ที่มีเพนกวินอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นพันๆ ตัว ตัวเมียจะออกไข่ฟองเดียวทิ้งไว้ให้ตัวผู้ยืนกกระหว่างขาเป็นเวลาสองเดือน ขณะที่ตัวเองเดินกลับไปทะเลเพื่อหาอาหารให้ตัวเองและนำกลับมาให้ลูกที่เกิดใหม่ เมื่อกลับมาพ่อและแม่จะสลับกันเลี้ยงลูก โดยมีอายุเฉลี่ย 20 ปี บางตัวอาจมากถึง 50 ปี


ด้วยความที่ “เพนกวินจักรพรรดิ” เป็นสัตว์ที่มีถิ่นฐานอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกานี่เอง เมื่อสภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วจนน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาละลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พวกเพนกวินเจ้าถิ่นจึงกลายเป็นผู้รับเคราะห์ ได้รับผลกระทบเข้าอย่างจัง โดยเมื่อไม่นานนี้ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า 4 ใน 5 ของลูกเพนกวินที่อาศัยอยู่ทางตะวันตกของคาบสมุทรแอนตาร์กติกแทบจะไม่มีชีวิตรอด


ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงของการฟักตัวของเจ้าลูกเพนกวินเกิดใหม่ Marcela Libertelli นักชีววิทยาหญิงชาวอาร์เจนตินา พร้อมทีมงานจากสถาบัน IAA ออกเดินทางไกลถึง 65 กม. ไปยังบริเวณ Halley Bay ซึ่งอดีตเคยเป็นที่เพาะพันธุ์ของเพนกวินจักรพรรดิ เพื่อชั่งน้ำหนักและตรวจเลือดบรรดาลูกๆ เพนกวิน ก่อนจะนำค่าตัวอย่างมาเทียบเคียงกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และนำไปจัดทำเป็นค่าสถิติ ทำให้พบกับความจริงอันแสนเศร้าว่า ตั้งแต่ปี 2016 เพนกวินจักรพรรดิ หายไปเฉลี่ยปีละ 15,000-24,000 ตัว มีตัวเต็มวัยเหลือเพียง 595,000 ตัว

.

เป็นข้อมูลที่สอดคล้องกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ระบุว่า ปริมาณน้ำทะเลในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากภูเขาน้ำแข็งละลาย และมีฝนตกมากผิดปกติ รวมถึงการที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การถูกคุกคามจากธุรกิจเรือท่องเที่ยวและประมง ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเจ้าเพนกวินจักรพรรดิ และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป เจ้าเพนกวินสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดนี้คงถึงคราวต้องหายไปจากโลกนี้อย่างแน่นอน

.

เพื่อให้สัตว์น้อยหน้าตาน่าเอ็นดูยังคงอยู่ต่อไป มนุษย์อย่างพวกเรา ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของการทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบต่อโลกอันเป็นเหตุให้สภาพภูมิอากาศมีความปรวนแปร จึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อทุกชีวิตบนโลกนี้ เพราะไม่ได้มีแค่ “เพนกวินจักรพรรดิ” เท่านั้นที่กำลังจะหายไปจากโลกนี้ แต่ยังมีเพนกวินอีก 2 สายพันธุ์ คือ “เพนกวินชิน สแตรป” และ “เพนกวินราชา” ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกาเช่นเดียวกัน จะต้องสูญพันธุ์ไปด้วย เราจึงต้องร่วมมือกันกู้โลกช่วยเพนกวิน ก่อนที่เจ้านกตัวน้อยที่บินไม่ได้เหล่านี้จะหายไปจากโลกตลอดกาล🌏🍀


ที่มาข้อมูล :

https://www.facebook.com/thematterco/posts/pfbid0xRvTubSfe1egekx43VXL4hk3iZMSRxf2YRmtAq8zuwmKmFjPfV5cU7YZMzgi4pmpl?_rdc=1&_rdr

https://themomentum.co/environment-emperorpenguin-climatechange/

https://rb.gy/8ihpe



bottom of page