top of page

👉ส่องเหตุผลทางจิตวิทยา ที่ทำให้ปัญหา “Climate Change” กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนมองข้าม🧐


แม้ว่าผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะนำไปสู่ความสูญเสียระดับโลกมาหลายครั้งในหลายปีที่ผ่านมา และเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ทว่า “Climate Change” กลับกลายเป็นปัญหาใกล้ตัวที่ถูกมองข้าม ทำไมคนทั้งโลกจึงยังดูนิ่งเงียบ และมองความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศราวกับว่า เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บทความนี้จะพาไปหา เหตุผลทางจิตวิทยา ที่ทำให้เกิดการสร้างระยะห่างจากปัญหาที่เราไม่อยากรับรู้ ลองมาดูกันเลย!

.

👉เคยสังเกตตัวเองไหมว่า เวลาเรามีเรื่องที่ผิดหวัง เสียใจ ไม่อยากรับรู้ เรามีวิธีรับมือกับเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น การซ่อนคีย์เวิร์ดบางอย่างหน้าไทม์ไลน์ให้เราไม่ต้องเห็น การหยุดเสพข่าวการเมืองเพื่อไปรักษาใจเมื่อเจอความผิดหวังในสถานการณ์ประเทศ หรือจากความเสียหน้าในการตัดสินใจของเรา ซึ่งการตอบสนองลักษณะนี้เรียกว่า การสร้างระยะห่างทางจิตวิทยา หรือ Psychological Distance

.

โดยสามารถอธิบายการสร้างระยะห่างทางจิตวิทยาได้ผ่านทฤษฎี Construal Level Theory (CLT) ที่นิยามโดยยาคอป โทรป (Yaacov Trope) และนิรา ลิเบอร์แมน (Nira Liberman) นักจิตวิทยาสังคม จากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์กและเทลอาวีฟ ซึ่งทฤษฎีดังกล่าวอธิบายถึงความสามารถของมนุษย์ในการตีความบางสิ่งให้เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะห่างของพวกเขาต่อสิ่งนั้น นั่นหมายความว่า ยิ่งเรามีระยะห่างต่อสิ่งใดมาก สิ่งนั้นย่อมมีลักษณะเป็นนามธรรมขึ้นเท่านั้น

.

ดังนั้นเมื่อนำทฤษฎีดังกล่าวนี้มาพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่มนุษยชาติกำลังประสบอยู่ ก็สามารถตอบคำถามได้มากมาย เช่น เหตุผลของการบ่นถึงอากาศแปรปรวน เพราะว่านั่นคือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ในขณะเดียวกัน แม้เราจะรู้ว่าการเกิดไฟป่านั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่เนื่องจากเราอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของความเป็นเมือง ทำให้เราไม่ได้มองมันด้วยมุมมองที่จับต้องได้ เพราะถือว่าเป็นสภาพแวดล้อมที่ไกลตัวเรามาก โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุในป่าของประเทศที่คนจำนวนมากไม่เคยเห็นเสียด้วยซ้ำ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ และสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะระยะห่างทางสมมติฐานสามารถลดความรู้สึกเร่งด่วนที่เป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหาสภาพอากาศนี้ได้

.

มากไปกว่านั้นคือ มีผู้เล็งเห็นความวิตกกังวลและระยะห่างดังกล่าว แล้วใช้มันเป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์อีกด้วย ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างของคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการผลักดันแนวคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่ได้เป็นอันตรายเท่าที่คิด คือ แพทริก มัวร์ อดีตสมาชิกและประธานองค์การเพื่อสิ่งแวดล้อมกรีนพีซ (Greenpeace) ที่เคยประกาศกร้าวว่า แนวคิดของนักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมนั้นละทิ้งความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ยึดติดกับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า ทั้งยังพูดถึงประเด็นการเพิ่มพูนของคาร์บอนไดออกไซด์ว่า เกิดขึ้นจริงและเป็นเรื่องดี ในงานเสวนาของสถาบัน Heartland Institute ซึ่งเป็นสถาบันต่อต้านผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

.

โดยหนึ่งในผู้สนับสนุนสำคัญของสถาบันดังกล่าวคือ มูลนิธิโคช (Koch Foundation) ที่มีธุรกิจหลักอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และมีประวัติเผยแพร่ข้อมูลเท็จในประเด็นดังกล่าวอย่างยาวนาน เรียกได้ว่า เขาทำหน้าที่เป็นนักล็อบบี้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว แลกกับสภาพของโลกที่ถดถอยลงนั่นเอง

.

นอกจากนี้ยังมีนักคิดและผู้นำทางความคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่ผลักดันแนวคิดรูปแบบดังกล่าวว่า การที่แผ่นน้ำแข็งละลายนั้นเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติของโลก แถมแผ่นน้ำแข็งยังเติบโตอีกต่างหาก หรือนาซ่าได้รับเงินจากรัฐเพื่อทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ ผู้นำทางความคิดรูปแบบดังกล่าวมักวางกรอบว่า มุมมองและเรื่องราวที่พวกเขาพูด ถือเป็นเพียงการตั้งคำถาม ซึ่งคำถามเหล่านั้นก็ล้วนมีคำตอบจากนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว

.

อันที่จริงปัญหาเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่ปัญหาที่จะแก้ไขได้ในระดับปัจเจกบุคคล แต่ต้องอาศัยความเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบัน และนโยบายระดับประเทศ ทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก ดังนั้นแม้ว่าเราทุกคนจะเป็นเพียงเสียงเล็กๆ แต่หากร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็จะทรงพลัง และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สังคมตื่นรู้ สร้างภูมิคุ้มกันต่อแนวคิดที่อาจนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่กว่าเดิมได้ 🍀🌏

.

ที่มาข้อมูล :

https://thematter.co/social/climate-movement/210864



bottom of page