top of page

สึนามิ ฝันร้ายจาก Climate Change🌊


หากเอ่ยถึง “สึนามิ” หลายคนคงนึกภาพคลื่นยักษ์ที่กลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างให้หายวับกลับคืนสู่ท้องทะเลได้อย่างหมดสิ้นด้วยเวลาเพียงชั่วพริบตา โดยเฉพาะเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี 2547 ภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นฝันร้ายที่เกิดขึ้นจาก Climate Change

.

วารสาร Nature Communications ตีพิมพ์ผลการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกศาสตร์ และทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น อาจเป็นตัวกระตุ้นให้มีเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ที่ก้นมหาสมุทรแอนตาร์กติกจนเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดใหญ่ซัดถล่มซีกโลกใต้ โดยเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วถึง 2 ครั้งเมื่อหลายล้านปีก่อน”

.

เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง โดยมีศูนย์กลางอยู่ในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “สึนามิ” ส่งผลกระทบถึงประเทศไทยใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงเกิดความสั่นสะเทือนอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร นับเป็นการเกิด “สึนามิครั้งแรกของประเทศไทย” ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึงประมาณ 5,400 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 8,000 ราย อีกทั้งยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก รวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

.

การเกิดเหตุแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเลครั้งนั้นเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใต้มหาสมุทรอินเดีย นับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงราว 30 เมตร ท่วมถล่มทำลายบ้านเรือนตามแนวชายฝั่งโดยรอบมหาสมุทรอินเดีย ได้มีการประมาณการผู้เสียชีวิตรวม 14 ประเทศมีจำนวนมากกว่า 230,000 - 280,000 คน นับเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย รองลงมาคือ ศรีลังกา อินเดีย และไทย ตามลำดับ

.

ซึ่งครั้งนั้นยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีคาบเวลายาวนานที่สุด โดยการสังเกตคาบเวลาอยู่ที่ประมาณ 8.3 ถึง 10 นาที ส่งผลให้แผ่นดินทั่วทั้งผืนโลกเคลื่อนตัวไปถึง 1 เซนติเมตร ทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวในจุดอื่นๆ ของโลกอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่า ภาพความเสียหายที่หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นภาพอาคารที่พักของโรงแรมต่างๆ ริมหาดทรายสีขาวนวลของทะเลชายฝั่งอันดามันที่หายวับไปกับคลื่นยักษ์ หรือภาพของเรือตรวจการณ์ ต.813 น้ำหนัก 60 ตัน หรือ 60,000 กิโลกรัม ถูกซัดจากทะเลขึ้นมาอยู่บนถนนเกยติดเชิงเขา เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที

.

แม้จะยังไม่มีทีท่าว่าเหตุการณ์รุนแรงครั้งยิ่งใหญ่จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร แต่ภาพความเสียหายที่ยังคงติดอยู่ในใจใครหลายคนจากการถล่มของคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นอุทาหรณ์สอนให้คนไทยทุกคนได้ตระหนักว่า หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดภาวะโลกรวน ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า สร้างขยะปริมาณมหาศาล ทิ้งขยะลงสู่ท้องทะเล ฯลฯ ฝันร้ายจาก Climate Change อาจหวนกลับมาสร้างความเสียหายอย่างยิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง

.

ที่มาข้อมูล :

https://www.facebook.com/environman.th/posts/pfbid02mZJrkbArUXy19zf4561bXvZdPeYk2QxV2YygQ41vYv36WBRjDYUj9e45dT9XbERxl

https://www.nationtv.tv/gogreen/378917574

https://th.wikipedia.org/wiki/แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย_พ.ศ._2547

https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_43257


bottom of page