top of page

สถานีต่อไป สถานีชาร์จ EV ปรับใหม่เพื่อไปต่อ


เมื่อการขนส่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักของการเกิดภาวะโลกรวน เนื่องมาจากยานพาหนะส่วนใหญ่ล้วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเกิดจากการสันดาปเชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานสะอาดที่สามารถใช้ได้ไม่มีวันหมดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV (Electric Vehicle) จึงเป็นทางเลือกของคนยุคใหม่ ที่นอกจากจะช่วยลดควันพิษ มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงในยุคที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นรายวันแบบนี้

.

จึงไม่น่าแปลกใจหากปัจจุบันกระแสการตอบรับและอัตราการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ EV (Electric Vehicle) ซึ่งเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงจะมีจำนวนมากขึ้น และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ไม่ว่าจะแบรนด์ยักษ์ใหญ่เจ้าเก่าเจ้าตลาด หรือผู้ประกอบการรายใหม่ ล้วนต่างหันมาให้ความสนใจพัฒนารถยนต์ EV แข่งขันกันทั่วโลก ทั้งนี้ KKP Research มีการประเมินยอดขายรถ EV ทั่วโลกไว้ว่าอาจสามารถพุ่งสูงขึ้นถึง 14 ล้านคันในปี 2025 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเริ่มลดลงเป็นการถาวรหลังแตะระดับ 103 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2027

.

เมื่อธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แน่นอนว่าสถานีชาร์จรถ EV ซึ่งเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในห่วงโซ่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV Value Chain) ย่อมมีทิศทางการขยายตัวและเติบโตแปรผันตามกัน โดยในปี 2020 ธุรกิจสถานีชาร์จ EV ทั่วโลกมีมูลค่าราว 5.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าน่าจะมีการค้นพบเทคโนโลยีการชาร์จ EV ใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มการพัฒนามากขึ้น เช่น การชาร์จแบบไร้สาย การชาร์จโดยหุ่นยนต์อัตโนมัติ เพื่อการชาร์จที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

.

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้มีการสนับสนุนโดยการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนสถานีชาร์จรถ EV ผ่าน BOI ส่งผลให้ปัจจุบันเริ่มมีสถานีชาร์จ EV เกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย โดยมีทั้งในรูปแบบของสถานีบริการน้ำมันเดิมที่ต่อยอดธุรกิจโดยการเพิ่มจุดชาร์จรถ EV เพิ่มเติม และสถานีบริการชาร์จรถ EV ที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีบริการชาร์จ EV ทั้งหมด 944 สถานี มีจำนวนหัวจ่ายไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถ EV ทั้งหมด 2,285 หัวจ่าย ด้วยการกระจายตัวอยู่ในสถานที่หลากหลาย ทั้งในสถานีให้บริการน้ำมัน ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล โชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์ รวมถึงสาขาการไฟฟ้านครหลวง (MEA) สาขาการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นต้น

.

ปัจจุบันการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ามีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ

การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบใช้สาย เป็นรูปแบบการอัดประจุหลักที่ทั่วโลกนิยมใช้ เนื่องจากมีความคุ้มค่าในการลงทุน มีประสิทธิภาพสูง สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการจัดการพลังงานได้ โดยมีการอัดประจุแบบช้าด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้เวลาในการชาร์จต่อครั้ง 8-10 ชั่วโมง การอัดประจุแบบปกติด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้เวลาในการชาร์จต่อครั้ง 4-7 ชั่วโมง และการอัดประจุแบบเร็ว ที่แบ่งเป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรง และไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้เวลาในการชาร์จเฉลี่ยราว 1 ชั่วโมง

การอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าแบบไร้สาย สามารถอัดประจุไฟฟ้าทั้งตอนจอดอยู่กับที่และตอนกำลังเคลื่อนที่ การอัดประจุรถไฟฟ้าแบบไร้สายในประเทศไทยกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองและพัฒนา

การสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นการอัดประจุแบตเตอรี่ไว้ล่วงหน้า เพื่อรอการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีค่าสถานะของประจุที่ต่ำกว่า ปัจจุบันนิยมใช้กับรถขนาดเล็ก เช่น รถสองล้อไฟฟ้า รถสามล้อไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า

.

ทั้งนี้แนวโน้มการลงทุนสถานีชาร์จรถ EV ในประเทศไทย คาดว่าจะเติบโตตามนโยบาย 4D1E ของกระทรวงพลังงาน ในเรื่องของ Electricfication โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งมีนโยบายสนับสนุนสถานีชาร์จรถไฟฟ้าของภาครัฐ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนเครื่องอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast Charge 2,200 - 4,400 เครื่องในปี 2025 และจะเพิ่มเป็น 12,000 เครื่อง ในปี 2030 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเมืองใหญ่ พื้นที่ท่องเที่ยว จุดแวะพัก และพื้นที่ชุมชน ดังนั้นคนที่อยากจะใช้รถไฟฟ้า EV แต่ยังลังเลอยู่ ไม่ต้องรีรอแล้ว เปลี่ยนเถอะ!

.

ด้วยทิศทางการเติบโตและแนวโน้มในการพัฒนาทั้งรถยนต์ EV และสถานีบริการชาร์จรถ EV ต่างมีความผันแปรตามกันไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น จึงนับเป็นบทสรุปให้กับผู้ที่กำลังมีความสนใจ หรือมีความลังเลใจในการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ EV ได้ว่า ควรปรับและเปลี่ยนใหม่…เพื่อไปต่อ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และโลกที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น



ที่มาข้อมูล :

https://www.salika.co/2022/06/08/ev-charger-for-patrol-station/

https://www.springnews.co.th/news/825488

https://marketeeronline.co/archives/213598




bottom of page