top of page

รู้ไว้ใช่ว่า โซลาร์เซลล์ภาคประชาชน ใครๆ ก็สามารถขายไฟฟ้าคืนให้การไฟฟ้าฯ ได้


แม้ทั่วโลกจะเริ่มตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่มนุษย์ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาวะภูมิอากาศโลกหรือ Climate Change จนเป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่าปี 2566 โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ฤดูร้อนปีนี้อากาศร้อนที่สุดในชีวิตก็ว่าได้

.

เมื่ออากาศยิ่งร้อนจัด อุปกรณ์คลายร้อนอย่างแอร์ พัดลม คือสิ่งจำเป็นที่ถูกใช้งานอย่างหนักและขาดไม่ได้ ผลที่ตามมาคือการใช้พลังงานไฟฟ้าของทุกบ้านมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาค่าไฟแพงเป็นประวัติการณ์นับเป็นเรื่องชวนหัวเสียที่สร้างผลกระทบต่อค่าครองชีพที่นับวันยิ่งสูงขึ้น การเปลี่ยนมาใช้พลังงานทางเลือกอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยประหยัดพลังงานและไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตไฟฟ้าได้

.

นอกจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นทางออกที่ดีของการช่วยลดค่าไฟแล้ว รู้หรือไม่ว่าโซลาร์เซลล์ไม่ได้เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในบ้านเท่านั้น แต่ยังสามารถขายคืนไฟฟ้าส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าฯ ได้อีกด้วย

.

โครงการโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีการกำหนดระยะเวลาโครงการ ระหว่างปี 2564-2573 โดยบ้านพักอาศัยที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา เมื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เกินความต้องการใช้งานในบ้านในช่วงกลางวันแล้ว สามารถขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าฯ ได้ในราคา 2.2 บาทต่อหน่วย จำนวนไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ และมีระยะเวลาในการรับซื้อ 10 ปี เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1

.

ใครที่สนใจขายไฟฟ้าให้กับโครงการโซลาร์เซลล์ภาคประชาชนก็ทำได้ไม่ยาก แค่ยื่นเรื่องกับการไฟฟ้าฯ ว่าเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านพักอาศัย แต่จะต้องติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาให้เรียบร้อยก่อนยื่นเรื่องขออนุญาตผ่านทางออนไลน์ หลังจากได้รับการประกาศอนุมัติ จึงจะมีการทำสัญญาขายไฟให้กับการไฟฟ้าฯ พร้อมชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบระบบ

.

ปัจจัยสำคัญของการพิจารณาการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ต้องมีการตรวจสอบระบบว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งผ่านมาตรฐานทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือไม่ อุปกรณ์สำคัญที่ใช้แปลงไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์มาเป็นไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านต้องได้รับการรับรองจากการไฟฟ้าฯ ในพื้นที่ที่อยู่อาศัย รวมถึงมาตรฐานการติดตั้งต้องเป็นไปตามที่การไฟฟ้าฯ กำหนดด้วยเช่นกัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการโซลาร์เซลล์ภาคประชาชน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะออกใบแจ้งจดไม่ต้องขออนุญาตผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะต้องยื่นเอกสารผ่านระบบออนไลน์

.

หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของระบบเรียบร้อยแล้ว จะมีการเปลี่ยนมิเตอร์เป็นมิเตอร์ขายไฟที่สามารถดูค่าการผลิตไฟและการใช้ได้ ทั้งไฟที่เราซื้อจากการไฟฟ้าฯ และไฟที่ขายคืนให้การไฟฟ้าฯ

.

ท้ายที่สุดปัญหาค่าไฟแพงก็จะหมดไป นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่สร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง และสามารถช่วยลดปัญหาสภาวะโลกรวนได้อย่างยั่งยืน

เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้อะไรดีๆ มากกว่าที่คิด

.

ที่มาข้อมูล : https://www.solarhub.co.th/.../609-erc-solar-for...

bottom of page