top of page

“ภูฏาน” หนึ่งเดียวของโลกที่ปล่อยคาร์บอนเท่ากับ 0


เมื่อโลกกำลังตกอยู่ในวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง จนส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิดอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งในปีนี้อากาศร้อนรุนแรงจนเรียกได้ว่าเป็นทศวรรษที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ทุกประเทศทั่วโลกจึงพยายามเร่งดำเนินการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด เพื่อกอบกู้โลก ยับยั้งไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นมากไปกว่านี้ ด้วยภารกิจลดคาร์บอนกู้โลกนี่เอง จึงเกิดคำว่า "Carbon Neutrality" หรือ ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การที่ปริมาณการปล่อยคาร์บอน (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ถูกดูดซับกลับคืนมาผ่านป่าหรือวิธีการอื่น ส่วน "Net zero emissions" หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ คือ การที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ซึ่งในสภาวะสมดุลนี้ก็ไม่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ และหากทุกประเทศทั่วโลกสามารถบรรลุเป้า Net Zero Emissions ได้ ก็แปลว่า เราสามารถหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนเกิน ที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนได้ ตามที่หลายประเทศกำลังพยายามขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของการเป็น Net Zero ในปี 2050 . ส่วนจะทำอย่างไรจึงจะเกิดความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้นั้น ในทุกๆ ขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตสินค้า การให้บริการ ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกไม่ให้เพิ่มเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ สำหรับภาคธุรกิจที่ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนอยู่ ต้องมีโครงการกำจัดก๊าซคาร์บอนที่เหลืออยู่ให้หมดไป หรือมีค่าเท่ากับศูนย์ (Zero Emissions) จึงเรียกได้ว่า มีความเป็นกลางทางคาร์บอน . อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ประเทศเล็กๆ ในเทือกเขาหิมาลัยที่อยู่ระหว่างประเทศอินเดียกับจีน ซึ่งถูกเรียกว่าประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอย่าง “ภูฏาน” ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่มีความเงียบสงบด้วยวิถีชีวิตแบบเรียบง่าย คือหนึ่งเดียวของโลกที่สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ได้ . ปัจจุบัน “ภูฏาน” มีประชากรราว 750,000 คน ขับเคลื่อนพัฒนาประเทศภายใต้กรอบการสร้าง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ “Gross National Happiness” (GNH) โดยมีหลัก 4 ประการคือ - การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนและเสมอภาค - การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม - การรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรม - การส่งเสริมการปกครองที่ดี . ทั้งนี้มีคำกล่าวที่ลือเลื่องไปทั่วโลกว่า “Gross National Happiness is more important than Gross National Product” โดยอดีตพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชาธิบดี ลำดับที่ 4 ประกาศเจตนารมณ์สร้างความสุขให้ประชาชนภายในประเทศมากกว่าการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไว้ตั้งแต่ปี 1970 จึงไม่น่าแปลกที่ภูฏานจะเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก . ลักษณะภูมิประเทศของภูฏานส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ป่ามากกว่า 70% ซึ่งสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 9 ล้านตันต่อปี ขณะที่ทั้งประเทศมีการปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 4 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ป่าของภูฏานสามารถดูซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกินกว่าที่ปล่อยออกไปเสียด้วยซ้ำ . โดยภูฏานมีการส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่า และยังมีนโยบายผลักดันต่างๆ ที่ทำให้ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน เช่น การสร้างความร่วมมือกับบริษัทผลิตรถยนต์เพื่อส่งเสริมการใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้า การสนับสนุนงบประมาณอุดหนุนราคาหลอดไฟประหยัดพลังงานให้ประชาชนในชนบทได้ใช้ไฟฟ้าฟรีเพื่อลดการตัดไม้มาทำฟืน การใช้พลังงานน้ำแทนพลังงานจากถ่านหินหรือก๊าซ และยังตั้งเป้าผลิตอาหารออแกนิกให้ได้ 100% ภายในปี 2020 . นอกจากนโยบายของภาครัฐแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ยังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน เช่น โครงการ The Clean Bhutan และ Green Bhutan ซึ่งไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแค่การลดคาร์บอนเท่านั้น โดยภายในปี 2030 ยังมีเป้าหมายลดของเสียให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Waste Bhutan อีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดภูฏานจึงเป็นประเทศหนึ่งเดียวของโลกที่ปล่อยคาร์บอนเท่ากับศูนย์ได้ และยังทำให้ได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 8 ประเทศ ที่บรรลุภารกิจ Net Zero Emissions สำเร็จก่อนเป้าหมายของโลก . ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่ปลายทางของความยั่งยืนที่จะช่วยให้โลกน่าอยู่เช่นกัน โดยได้มีการตั้งเป้าการก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ในปี 2050 และตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศที่ประกาศคำว่า Net Zero ให้ได้ภายในปี 2065 . แต่การจะก้าวไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วน ที่จะต้องช่วยกัน “ปรับ” และ “เปลี่ยน” เพื่อให้เรากลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถลดคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้ในที่สุด . ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/dcceth/posts/687076390115453?_rdc=1&_rdr https://www.thansettakij.com/sustai.../zero-carbon/555348... https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/

bottom of page