top of page

ภาษีคาร์บอน บรรทัดฐานใหม่ของธุรกิจที่รักษ์โลก


“ภาวะโลกรวน” เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากการสะสมของก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล โดยเฉพาะ “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ตัวการสำคัญที่สุดของปรากฏการณ์เรือนกระจกที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษยชาติอย่างหลีกลี่ยงไม่ได้


ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการออกมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในนั้นคือมาตรการทางภาษี เช่น “ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเพิ่มต้นทุนให้กับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ผู้ผลิตลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หรือหันมาผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า


ฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บ มีทั้งการจัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตสินค้า และการจัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค ซึ่งปัจจุบันมี 29 ประเทศได้เริ่มนำระบบภาษีคาร์บอนมาใช้กันแล้วในอัตราที่แตกต่างกัน เช่น จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่วนบ้านเรา กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการนำภาษีคาร์บอนมาใช้ในประเทศไทย


จากข้อมูลของสมาคมพลังงานหมุนเวียน ระบุถึงปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศไทยวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน 35% เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของไทยยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น น้ำมัน ก๊าชธรรมชาติ ถ่านหิน ทำให้มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด รองลงมาคือ ภาคขนส่ง ทั้งระบบอย่างรถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ มีสัดส่วน 32% ภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 27% และภาคครัวเรือน 6%

ถ้าหากไทยจะแก้ปัญหาให้ได้ทั้งในระดับระยะสั้นถึงระยะยาว ก็จำเป็นต้องกำหนดกติกาโดยการใช้มาตรการจัดเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 30% เมื่อมาตรการเก็บภาษีตัวแรกออกมา ซึ่งกลไกดังกล่าวจะส่งผลให้ผู้ผลิตทุกภาคส่วนต้องปรับตัว และหันไปใช้พลังงานสะอาดที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และจะนำไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ใน พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน พ.ศ. 2606 ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ตามนโยบาย 4D1E ซึ่งเป็นแผนพลังงานแห่งชาติฉบับใหม่ของไทย


นอกจากนั้นประชาชนตัวเล็กๆ อย่างเราๆ ก็สามารถลดการเกิดของปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยถนอมโลกใบนี้ให้น่าอยู่และยั่งยืนต่อไปได้ เพียงช่วยกันทำเรื่องเล็กๆ ที่หากช่วยกันคนละไม้คนละมือ ก็กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่น ลดเวลาการใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่กินทิ้งกินขว้างเพื่อลดการเกิดขยะ รวมถึงเลือกการใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีกระบวนการผลิตที่ส่งผลถึงการเกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด เช่น การใช้รถยนต์ EV ที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และฝุ่น PM2.5 รวมถึงติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่มีวันหมดสิ้น


นาทีนี้ ใครไม่ Change Climate Change ชวนกันมารวมพลัง เพื่อส่งต่อโลกใบนี้ให้คนรุ่นหลังได้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน


bottom of page