top of page

ป่าชายเลน ฮีโร่แห่งผืนป่าผู้ช่วยลดโลกร้อนได้ดีที่สุด👉


🧐รู้หรือไม่? การปลูกต้นไม้ยืนต้นสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 9-15 กิโลกรัม CO2 ต่อปี ช่วยผลิตออกซิเจนได้สำหรับ 2 คนต่อปี และช่วยลดอุณหภูมิรอบพื้นที่ปลูกได้ 2-4 องศาเซลเซียส สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า หากเราดูแลต้นไม้ให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้มากแค่ไหน วิกฤตสภาวะโลกรวนก็จะสามารถบรรเทาเบาบางลงได้มากไม่แพ้กัน

.

จากกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้ แล้วนำมากักเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ทั้งกิ่งก้าน ลำต้น ใบ และราก สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมานั้น แสดงให้เห็นว่าป่าไม้มีประโยชน์ และมีความสำคัญมากเพียงใดต่อโลกใบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ป่าชายเลน” ซึ่งมีผลการวิจัยสรุปออกมาว่า หากเปรียบเทียบการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างป่าชายเลนกับป่าบก ป่าชายเลนของประเทศไทยประมาณ 1.5 ล้านไร่ หรือประมาณ 0.24 ล้านเฮกตาร์ สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ราว 11 ล้านตันต่อปี

.

ถามว่าป่าชายเลนคืออะไร และเหตุใดจึงสามารถช่วยลดอุณหภูมิของโลกได้มากกว่าป่าทั่วไป?

.

ป่าชายเลน คือ ป่าที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นดินเลน น้ำกร่อย และมักอยู่ตามริมทะเลเป็นส่วนใหญ่ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพรรณไม้ โดยระบบนิเวศป่าชายเลนนั้นเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ พืช สาหร่าย สัตว์น้อยใหญ่ที่อาศัยอยู่ ซึ่งป่าชายเลนสามารถช่วยโลกด้วยการลดคาร์บอนได้ 2 วิธีคือ 👉

.

1. ช่วยดึงคาร์บอนจากอากาศ 🌨(Carbon Sequestration) ดังที่ในตำราเรียนว่าไว้คือ พืชจะมีการสังเคราะห์แสงโดยการดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากอากาศ ต้นไม้ยิ่งโต กระบวนการสังเคราะห์แสงก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งธรรมชาติของป่าชายเลนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ป่าสังเคราะห์แสงด้วยอัตราสูง จึงดึงคาร์บอนจากอากาศออกมาได้มาก

.

2. เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นเยี่ยม (Carbon Storage) โดยหลังจากการสังเคราะห์แสง คาร์บอนที่ดึงออกมาจะถูกส่งผ่านไปยังราก ใบไม้ บางส่วนหลุดออกมาสู่ดินกลายเป็นซากพืชที่ส่งต่อคาร์บอนให้กับดิน ซึ่งปกติแล้วซากพืชจะถูกย่อยสลายไปตามกาลเวลา คาร์บอนที่ดึงออกมาจะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่สิ่งที่ทำให้ป่าชายเลนลดคาร์บอนได้มากกว่าป่าทั่วไป เพราะการที่ป่ามักจะขึ้นอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำขึ้นน้ำลงตลอดเวลา ก่อให้เกิดภาวะออกซิเจนต่ำ เมื่อออกซิเจนยิ่งน้อยอัตราการย่อยสลายก็ยิ่งน้อยลงด้วยเช่นกัน เป็นเหตุให้ซากพืชบริเวณป่าชายเลนมีการย่อยสลายที่ช้ากว่าปกติมาก คาร์บอนจึงติดอยู่ในดิน ในซากพืช กลับเข้าสู่อากาศไม่ได้ จึงเป็นผลดีด้วยเกิดการกักเก็บคาร์บอนในดิน ทำให้ป่าชายเลนลดคาร์บอนได้มากกว่าป่าทั่วไปมากถึง 10 เท่า!

.

แม้ป่าชายเลนจะมีประโยชน์มากมาย แต่ในปัจจุบันป่าชายเลนเกิดความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการบุกรุกทำลายพื้นที่ จากเดิมพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยกินบริเวณทั้งชายฝั่งทะเลอันดามัน และชายฝั่งทะเลอ่าวไทย แต่ทุกวันนี้ป่าชายเลนของไทยกลับเหลือพื้นที่น้อยลงทุกที จนถึงขั้นมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของพันธุ์ไม้ป่าชายเลน

.

👉เพื่อช่วยกันเพิ่มพื้นที่ปอดของโลก เราจึงควรช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนให้ฟื้นกลับคืนมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในวันวาน ด้วยการรักษาป่าชายเลนธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เก็บขยะจำนวนมากที่ลอยเข้ามาในป่าชายเลน ลดขยะทางทะเล ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง ช่วยกันคนละไม้คนมือเพื่อโลกที่น่าอยู่ในวันนี้และวันต่อๆ ไปในอนาคตข้างหน้า

.

ที่มาข้อมูล :

https://www.facebook.com/environman.th/posts/pfbid0mFdhJgUFaPR8MHC4fzjGnijzhGnv99RH5oB594JiCyJaqgictKpcdVrFHN3sYY4ql?_rdc=1&_rdr

https://www.scg.com/esg/environmental/climate-emergency/plant-beat-heat/netzero-plant/

https://www.thebangkokinsight.com/news/environmental-sustainability/391478/



bottom of page