top of page

6 แหล่งสำคัญ ของพลังงานชีวมวลเพื่อไฟฟ้าพลังงานสะอาด


พลังงานสะอาดจากชีวมวล ถือเป็นแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงที่เหมาะสมกับประเทศที่มีวัตถุดิบในการผลิตจำนวนมาก เพื่อความคุ้มค่าในการผลิตและขนส่ง เฉกเช่นประเทศไทยมีวิถีเกษตรกรรมในการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นที่มีแหล่งวัตถุดิบที่สามารถผลิตก๊าซชีวมวลกระจายอยู่ทั่วประเทศ


ชีวมวล คือวัตถุดิบเชื้อเพลิงที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นสิ่งมีชีวิตหรือส่วนประกอบของธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งเหลือทิ้งจากสิ่งมีชีวิต ชีวมวลที่นำไปแปรรูปเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาดส่วนใหญ่เป็นพืชหรือ เนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช จะมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ไปใช้เพื่อผลิตก๊าซออกซิเจน หรือ O2 ดังนั้นเมื่อนำชีวมวลที่ได้จากพืชมาใช้ในการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาด โดยการนำไปเผา จึงทำให้ไม่มีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย


ชีวมวลที่ได้จากธรรมชาติทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยมีแหล่งที่มาต่างกัน ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 6 ประเภทหลักๆ ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัย Laohalidanond, K., 2007 ดังนี้


1. พืชเกษตรกรรม (Agricultural Crop) ซึ่งในประเทศไทยมีมาก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของคาร์โบไฮเดรต แป้ง และน้ำตาล ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำก๊าซชีวมวลเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด นอกจากนี้ยังมีพืชที่ปลูกเพื่อนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอื่นๆ โดยเฉพาะ เช่น ปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ


2. วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร (Agricultural Residues) เช่น ฟางข้าว รากมันสำปะหลัง ซังข้าวโพด กากถั่วเหลือง มีคุณสมบัติคล้ายพืชเกษตรกรรมด้านบน แต่ข้อได้เปรียบที่มีมากกว่าคือต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบ และแน่นอนการกำจัดวัสดุเหลือทิ้งเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย


3. เนื้อไม้และเศษเหลือทิ้งของเนื้อไม้ (Wood and Wood Residues) เศษไม้เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมไม้ ถือเป็นอีกอุตสาหกรรมที่มีต้นทุนวัตถุดิบสำหรับผลิตก๊าซชีวมวลอยู่มาก เช่น ไม้โตเร็วและไม้ยืนต้นทั่วไป เศษเหลือทิ้งจากโรงงานแปรรูปไม้ รวมทั้งเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมเยื่อไม้และกระดาษ ฯลฯ


4. เศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม (Waste Streams) เช่น แกลบจากโรงสีข้าว กากน้ำตาลและชานอ้อยจากอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล และเศษเหลือทิ้งจากการสกัดปาล์มน้ำมัน


5. ขยะมูลฝอยและมูลสัตว์ แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงชีวมวล ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ควบคู่กับการจัดการขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องของกลิ่น และสิ่งเจือปนที่อาจตกค้างอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งขยะที่เป็นของสดและมูลสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นแหล่งอินทรีย์สารชั้นดีเลยทีเดียว


6. สิ่งมีชีวิตบางชนิด “สาหร่าย” ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้านการผลิตก๊าซชีวมวลได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ไบโอดีเซลจากสาหร่ายและการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน รวมไปถึงเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด


ซึ่งนอกจากนี้ยังมีอีกหลายงานวิจัยที่พยายามค้นหาแหล่งวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลใหม่ๆ ซึ่งได้ค้นพบและอยู่ในขั้นตอนการวิจัย เช่น น้ำย่อยในกระเพาะอาหารของปลวกบางสายพันธุ์ และถือเป็นความท้าทายใหม่ๆของวงการวิทยาศาสตร์เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเกิดนวัตกรรมหรือแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนเฉกเช่นปณิธานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)


bottom of page