เมื่อวิถีชีวิต 1 ปีของคนรวย 💸
ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้มากเท่ากับชีวิตคนจน 1500 ปี!
👉รู้หรือไม่ว่า…ประชากรที่ได้ชื่อว่ามหาเศรษฐี เป็นกลุ่มคนรวยที่สุดในโลกนั้นมีอยู่เพียงแค่ 1% ซึ่งเป็นผู้ครอบครองความมั่งคั่งมากถึง 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ใหม่ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2020 โดยมีมูลค่ารวมถึง 42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,382 ล้านล้านบาท และคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ประชากรโลกอีก 99% ได้รับรวมกัน
ขณะที่ประชากรกลุ่มที่ยากจนที่สุด 10% ทำรายได้เพียง 2-7% ของรายได้รวมทั่วโลกในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างกันระหว่างประชากรทั้งสองกลุ่มอย่างเห็นได้ชัด โดยความต่างกันในเรื่องของรายได้นี้ส่งผลถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนรวยไม่น้อยไปกว่ารายได้ของพวกเขาเลย
งานวิจัยจาก University of Leeds ทำการเก็บข้อมูลจาก 86 ประเทศ พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้นมาจากกลุ่มคนที่ร่ำรวยมีฐานะ พบว่า 10% ของคนที่รวยที่สุดใช้พลังงานโดยรวมแล้ว มากกว่า 10% ของคนที่จนที่สุดถึง 20 เท่า นักวิจัยยังพบอีกว่ายิ่งคนรวยขึ้นเท่าไรยิ่งใช้พลังงานมากขึ้นเท่านั้น
กิจกรรมการใช้ชีวิตของคนรวยที่ทำให้เห็นความแตกต่างที่สุดคือ การคมนาคม 10% ของกลุ่มคนรวยที่สุดใช้พลังงานไปกับการคมนาคมมากกว่า 10% ของผู้คนที่จนที่สุดถึง 187 เท่า ในประเทศอังกฤษบรรดามหาเศรษฐีเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยมาก ขณะที่ 57% ของประชากรในประเทศนั้นไม่เคยนั่งเครื่องบิน
ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Nature Energy แสดงให้เห็นว่าพลังงานที่ใช้สำหรับการปรุงอาหาร และให้ความอบอุ่นมีการใช้ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากระหว่างคนรวยกับคนจน แต่อย่างไรก็ตาม 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นใช้ประมาณ 1 ใน 3 ของพลังงานที่ใช้ปรุงอาหาร และให้ความอบอุ่นทั้งหมด อันน่าจะเป็นเพราะที่อยู่อาศัยของ 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นมีขนาดใหญ่มาก
จากรายงานใหม่ของ Oxfam องค์กรด้านความยั่งยืนที่ต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม ประกอบด้วยองค์กรการกุศลอิสระ 21 แห่งที่มุ่งเน้นบรรเทาความยากจนทั่วโลก ได้สำรวจผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนเกินที่มนุษย์ปล่อย และพบว่ามีสัดส่วน “ที่ไม่เหมาะสม” อย่างมาก
ทั้งนี้รายงานยังระบุว่า กลุ่มคนรวยที่สุดมักใช้ชีวิตอยู่ในเครื่องปรับอากาศ ทำกิจกรรมบนซูเปอร์เรือยอร์ช เดินทางด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ และท่องเที่ยวไปในอวกาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 5.9 พันล้านตัน เมื่อปี 2019 Oxfam ยังกล่าวว่า ตัวเลขนี้เพียงพอที่จะทำให้คน 1.3 ล้านคนเสียชีวิตต่อไปในอีกหลายสิบปี จากผลของโลกร้อน
ส่วนคนที่มีรายได้น้อยต้องใช้เวลาประมาณ 1,500 ปี เพื่อที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ในปริมาณที่คนรวยปล่อยใน 1 ปี พร้อมเสริมอีกว่าช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนั้นกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้รายงานแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกเหนือของโลกมีส่วนรับผิดชอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 40 แต่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ โดยส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกใต้นั้น ปล่อยคาร์บอนเพียง 0.4% ของทั้งหมด และแอฟริกาที่มีประชากรราว 1 ใน 6 ของโลก เป็นผู้รับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น แต่คนกลุ่มนี้กลับได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยความทุกข์ทรมานจากการเผชิญกับสภาพภูมิอากาศเลวร้าย การเผชิญกับความร้อนจัดแบบไร้เครื่องปรับอากาศบรรเทา พืชผลเสียหาย ขาดแคลนอาหารและน้ำสะอาดทั้งหลายนั้นตกอยู่กับผู้ที่อาศัยในพื้นที่ยากจน ชุมชนชาติพันธุ์ชายขอบ ผู้อพยพ สตรี และเด็กผู้หญิง ซึ่งคนเหล่านี้แทบจะไม่มีเงินออม ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือแม้แต่การคุ้มครองทางสังคม ทั้งยังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ภัยแล้ง คลื่นความร้อน และไฟป่า สหประชาชาติกล่าวว่าผู้เสียชีวิตในประเทศกำลังพัฒนากว่า 91% มีความเกี่ยวข้องกับสภาพอากาศสุดขั้ว
ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มคนรวยที่สุดยังใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อให้ความมั่งคั่งของพวกเขาเติบโต และยังเป็นเจ้าขององค์กรสื่อและโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อควบคุมข่าวสาร จึงเป็นเหตุผลว่า เหตุใดหลายรัฐบาลของประเทศซีกโลกเหนือจึงยังจัดสรรเงินเพื่อลงทุนและอุดหนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2020 ซึ่งตรงข้ามกับคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่จะยุติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ด้วยเหตุนี้ Oxfam จึงออกรายงานนี้เพื่อเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีจากคนรวย เพื่อนำไปใช้ในการบรรเทาผลกระทบของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยการกระทำของกลุ่มคนรวย รวมถึงให้ทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทดแทน จะช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น
Amitabh Behar ผู้อำนวยการบริหารชั่วคราว Oxfam กล่าวว่า “การไม่เก็บภาษีความมั่งคั่งจะทำให้คนรวยที่สุดปล้นไปจากเรา ทำลายโลกของเรา และยอมทรยศต่อระบบประชาธิปไตย การเก็บภาษีความมั่งคั่งสุดโต่งสร้างโอกาสของเราให้จัดการกับทั้งความไม่เท่าเทียมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”
ทั้งนี้ทั้งนั้น ด้วยภาวะวิกฤตความแปรปรวนของโลกอันเนื่องมาจากภาวะโลกรวน ซึ่งเป็นผลของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังคงสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนชนชั้นใด ทุกคนควรหันมาร่วมแรงร่วมใจกัน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิถีชีวิตอันจะก่อให้เกิดมลพิษ หันมาใช้พลังงานทางเลือก อย่างเช่น รถ EV ใช้โซลาร์เซลล์ ดังที่ กกพ. ได้มีนโยบายสนับสนุน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า และโลกที่ดีกว่า ด้วยสองมือของทุกๆ คน🍀🌏
ข้อมูลอ้างอิง :
Comments