อย่างที่รู้กันดีว่า หนึ่งในวิธีการช่วยฟื้นฟูโลกที่กำลังตกอยู่ในสภาวะโลกรวนให้กลับมาดี และลดความแปรปรวนได้คือ การแยกขยะให้ถูกวิธี เพราะขยะมีหลากหลายประเภท โดยปลายทางของการบริหารจัดการขยะนั้นมีความแตกต่างกันไป เช่น ขยะอินทรีย์ คือ ขยะเน่าเสียที่สามารถย่อยสลายได้เร็ว อย่างเศษอาหาร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ ขยะรีไซเคิล อย่างขวดพลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ด้วยกระบวนการต่างๆ ขณะที่ขยะอันตราย คือ ขยะที่มีสารปนเปื้อนอันตรายต่างๆ ซึ่ง “ยารักษาโรค” ที่หมดอายุแล้วจัดเป็นหนึ่งในขยะอันตรายเช่นกัน
หากจะกล่าวถึง “ยา” ตามคำอธิบายของวิกิพีเดีย ให้ความหมายว่า วัตถุที่รับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์ วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์
แม้ยาจะมีประโยชน์ในการช่วยรักษา บรรเทาโรคหรือความเจ็บป่วยที่ไม่ว่าคนหรือสัตว์ต่างต้องพึ่งพา แต่ในตัวยานั้นประกอบด้วยสารต่างๆ มากมาย ด้วยเหตุนี้ยาที่หมดอายุ เสื่อมสภาพ ไม่ได้ใช้งานแล้วจึงถูกจัดให้อยู่ในหมวดของขยะอันตราย หากทิ้งอย่างผิดวิธี ยาจะกลับมาส่งผลร้ายกับทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับการตกค้างของยาในสิ่งแวดล้อม พบว่า ยาที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะแหล่งน้ำ คือ ยาประเภท ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้โรคซึมเศร้า ยาลดความดัน ยาลดภูมิคุ้มกัน ยารักษาโรคมะเร็ง ยาฮอร์โมน ฯลฯ หากปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ อาจส่งผลให้แบคทีเรียในน้ำและดินมีภูมิต้านทาน และทนต่อฤทธิ์ยา จนเกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยาในสัตว์น้ำบางประเภท และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม จำนวนของสิ่งมีชีวิตลดลง จากยาที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ยังมีข้อมูลระบุว่า การทิ้งยาไม่ถูกที่ อาจทำให้เกิดการสะสมยาในร่างกายของสิ่งมีชีวิตที่เราบริโภค อย่าง กุ้ง ปู ปลา ฯลฯ ได้
ดังนั้นสิ่งที่ควรพึงกระทำและตระหนักอยู่เสมอหากคิดจะทิ้งยา คือ เตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ยา คือ สารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม นอกจากจะไม่ควรทิ้งยาลงในชักโครกอย่างที่เคยมีการรณรงค์แล้ว ยาหมดอายุ ยาเสื่อมสภาพต่างๆ ที่ต้องการทิ้ง ควรใส่ภาชนะ หรือถุงที่ปิดมิดชิด และเขียนกำกับให้เห็นชัดเจนว่า “ยาหมดอายุ” ก่อนที่จะนำไปทิ้งในถังขยะอันตราย คือ ถังขยะสีแดงที่มีอยู่ในจุดต่างๆ หรือรวบรวมส่งต่อให้โรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อนำไปกำจัดพร้อมขยะติดเชื้อ หรือขยะอันตรายของโรงพยาบาลด้วยการใช้เตาเผาอุณหภูมิสูงกว่า 1,200 องศาเซลเซียส ในการจัดการขยะ
นอกจากจะทิ้งยาให้ถูกวิธีแล้ว สิ่งที่ควรปรับและเปลี่ยนให้เป็นนิสัย คือ การคัดแยกขยะให้ถูกประเภทก่อนทิ้ง ดังที่ กกพ. ได้มีนโยบายสนับสนุนด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการแยกขยะ ทั้งยังสร้างแพลตฟอร์มการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะ “ขยะ” คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกรวนที่ดูเหมือนจะยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้นทุกที มาเปลี่ยนพฤติกรรมกันวันนี้เพื่อโลกที่ดีกว่ากันเถอะพวกเรา☘🥰
ข้อมูลอ้างอิง :
Comentarios