top of page

โอกาสทองของไทย ส่งออกเชื้อเพลิงจากชีวมวลไปเกาหลี


เกษตรกรรม ถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงประเทศไทย โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจมากมายไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย ปาล์ม หรือยางพารา เนื่องจากมีลักษณะทางภูมิประเทศและอากาศที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันแนวโน้มการทำเกษตรของไทยได้เพิ่มขึ้น เพราะมีการนำพืชผลทางการเกษตรไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเอทานอล และการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดชีวมวล


กำลังการผลิตวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลของไทยเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก ทำให้หลายประเทศจับตามอง โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเกาหลีใต้ ที่ได้อนุญาตให้นำเข้าเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของผู้ผลิตพลังงานเชื้อเพลิงจากชีวมวลของไทยที่ต้องการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ


โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557 กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเกาหลีใต้ (The Ministry of Environment: MOE) ประกาศว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (National Assembly) ได้ผ่านการทบทวนกฎหมายของเกาหลีใต้ ว่าด้วยมาตรการสนับสนุนการประหยัดและการนำทรัพยากรมาใช้ใหม่แล้ว โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้


1. เกาหลีใต้จะอนุญาตให้นำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงชีวมวล (Solid Refuse Fuel: SRF) ที่แปลงจากพืชพลังงานและเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงได้ เช่น เชื้อเพลิงชีวมวลที่ได้จากกะลาปาล์ม (Palm Shell) อย่างไรก็ดี สินค้าดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานด้านการผลิตและการใช้งานด้วย


2. ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจะต้องรายงานผลการทดสอบคุณภาพเชื้อเพลิงดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม หรือหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น ทั้งนี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเกาหลีใต้พบว่า สินค้าไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงสิ่งแวดล้อมจะไม่อนุญาตให้นำเข้าหรือผลิต หรืออาจเรียกร้องให้ปรับปรุงคุณภาพดังกล่าว


3. ผู้ผลิตสินค้าเชื้อเพลิงชีวมวลจะต้องตรวจสอบการผลิตอย่างสม่ำเสมอ และใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อเพลิงฯ ที่ได้มีคุณภาพสูงและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม


จากการที่เกาหลีใต้จะอนุญาตให้นำเข้ากะลาปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล คาดว่าจะส่งผลให้มีการเพิ่มช่องทางจำหน่ายพลังงานสะอาดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น ในปัจจุบัน กระทรวงสิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้อยู่ระหว่างกำหนดขั้นตอนการนำเข้า มาตรฐานผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการทดสอบ มาตรฐานการผลิตและการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ และเตรียมจัดตั้งศูนย์ขยะสู่พลังงาน (Waste-to-Energy Center) และสมาคมขยะสู่พลังงานสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Waste-to-Energy Association)


และเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีความได้เปรียบด้านปริมาณขยะทางการเกษตรที่จะสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงขยะสูง อาทิเช่น แกลบ ฟาง ข้าว ชานอ้อย กะลาปาล์ม และกะลามะพร้าว ฯลฯ และแน่นอนการที่เกาหลีใต้อนุญาตให้มีการนำเข้าเชื้อเพลิง ชีวมวล จึงนับเป็นโอกาสดีของผู้ผลิตพลังงานสะอาดของไทยที่ต้องการขยายตลาดในอนาคต ทั้งนี้นอกจากจะสามารถยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตร และ อุตสาหกรรมด้านพลังงานได้แล้ว ยังสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในประเทศอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย


bottom of page