top of page

เมืองออสโล ประเทศนอร์เวย์ขนส่งสาธารณะด้วยพลังงานสะอาด


“สภาวะโลกร้อน” และ “พฤติกรรมทำร้ายโลก” ของมนุษย์ กำลังบีบบังคับให้หลายเมืองทั่วโลกต้องปรับแนวคิด และเปลี่ยนเมืองของตัวเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางระบบจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การควบคุมการก่อสร้างภายใต้แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือกิจกรรมของมนุษย์ควรคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเช่นกัน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์สภาพอากาศที่ย่ำแย่ลงทุกปี เช่นเดียวกับ “ออสโล” เมืองหลวงของนอร์เวย์ ที่เป็นอีกเมืองหนึ่งซึ่งร่วมพัฒนาตนเองให้กลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งออสโลยังได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียวของภูมิภาคยุโรปในปี ค.ศ. 2019 (European Green Capital 2019) อีกด้วย


European Green Capital เป็นรางวัลที่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ผู้รับผิดชอบกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของสหภาพยุโรปได้ก่อตั้งขึ้น เพื่อมอบรางวัลให้แก่เมืองที่เป็นต้นแบบของการปรับใช้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันของสังคมเมือง โดยมีแนวคิดสำคัญว่า “Green Cities - Fit for Life” หรือ เมืองสีเขียวที่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่


ภารกิจของออสโลเมื่อได้รับเลือกให้เป็นเมืองสีเขียว จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนและวางแผนการบริหารจัดการพลังงานและทรัพยากร ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม โดยมีนโยบายอย่าง Climate Budget ซึ่งเป็นพิมพ์เขียวของแผนยุทธศาสตร์การควบคุมพลังงานและสภาพอากาศ (Climate and Energy Strategy) ที่สอดคล้องกับ “ความตกลงปารีส” (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 โดยใช้แนวทางการทำงานแบบ “นับคาร์บอนในแบบที่เรานับเงิน” เพื่อปรับใช้กับหน่วยงานรัฐบาลทุกภาคส่วนในการลดการปล่อยมลพิษ โดยมีมาตรวัดในด้านต่างๆ เช่น ผลกระทบจากขยะ อาคารบ้านเรือน การคมนาคม เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2022 และร้อยละ 95 ภายในปี ค.ศ. 2030 จนกลายเป็นเมืองไร้มลพิษอย่างสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2050


และสิ่งหนึ่งที่ออสโมเลือกจะทำเป็นสิ่งแรกๆ ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคม เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากยานพาหนะขนาดใหญ่และเล็กมีมากกว่า 583,682 ตัน หรือคิดเป็น 54% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของเมือง ออสโลจึงต้องเร่งยกเครื่องรูปแบบการคมนาคมของเมืองใหม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศนอร์เวย์ก็มีข้อได้เปรียบของการเป็นประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในโลก หรือ 1 ใน 10 ของผู้ที่มียานพาหนะส่วนตัวใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเหตุผลนี้เองที่กลายมาเป็นกุญแจหลักของการผลักดันให้ออสโลเริ่มทดสอบการคมนาคมแบบปลอดมลพิษ อีกทั้งยังช่วยปรับเปลี่ยนให้การเดินทางเป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่เดินเท้าอีกด้วย


เมื่อมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมากในเมือง ก็ทำให้ต้องมีสถานีชาร์จไฟที่เพียงพอต่อการใช้งาน โปรเจค GreenCharge คือโครงการทดลองที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายเมืองในยุโรป โดยมีจุดประสงค์ในการกระจายจุดชาร์จไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเข้าไปยังสถานที่อยู่อาศัย เพื่อให้กลายเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่ประชาชนควรจะได้รับ เช่น อพาร์ทเมนท์และลานจอดรถสาธารณะ นอกจากนี้โครงการฯ ยังได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในแต่ละจุดได้อย่างเหมาะสม โดยใช้วิธีคำนวณการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์แต่ละคัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้รถทุกคน ทั้งนี้แหล่งพลังงานไฟฟ้าจะมาจากการจ่ายไฟฟ้าสาธารณะ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และแบตเตอรีสำรอง


ลำดับต่อมา ออสโลทดลองเปลี่ยนบางย่านในบริเวณศูนย์กลางของเมือง โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีบริเวณให้นั่งพักผ่อนมากขึ้น มีกิจกรรมและความสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมระหว่างผู้คนให้มากขึ้น มีพื้นที่สำหรับจักรยาน และให้มีเพียงรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งสินค้าเท่านั้นที่สามารถวิ่งในย่านกลางเมืองได้ นั่นแปลว่าย่านนี้ห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาเด็ดขาด

และสิ่งที่สำคัญ คือการเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะให้มาใช้พลังงานสะอาด ทั้งรถไฟใต้ดิน รถบัส รถราง และเรือโดยสารที่เปิดบริการเกือบ 24 ชั่วโมง ซึ่งจำนวนการเข้าใช้บริการขนส่งมวลชนของออสโลเพิ่มมากถึง 371 ล้านเที่ยว แต่นั่นยังไม่เพียงพอ รัฐบาลสนับสนุนให้ผู้คนเปลี่ยนไปเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะซึ่งใช้พลังงานสะอาดให้มากอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นสาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศและเสียง อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาด้านการจราจรอีกด้วย


พลังงานสะอาด” ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในแผนการพัฒนาเมืองของออสโล ประเทศนอร์เวย์ ทั้งระบบขนส่งสาธารณะไปจนถึงมาตรการการใช้ยานพาหนะไฟฟ้าส่วนบุคคล ถือเป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันครั้งใหญ่ในเมือง ซึ่งเหมาะกับการนำมาเป็นตัวอย่างในประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและขับเคลื่อนแนวคิดนี้อย่างจริงจัง จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่อยากเห็นการใช้พลังงานสะอาดในหลายพื้นที่ของประเทศ อยากเห็นสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตคนไทยในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยการใช้พลังงานสะอาด



bottom of page