top of page

สวีเดน ขยะเกลี้ยงนำเข้าขยะกว่า 800,000 ตัน เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด


“ขยะล้นเมือง” ปัญหาใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก ในขณะที่ทุกพื้นที่กำลังสร้างระบบการจัดการขยะในเมืองของตัวเอง เพื่อให้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการจัดการขยะ ประเทศสวีเดนที่มีประชากรราว 9.5 ล้านคน มีขยะเหลือศูนย์ และต้องนำเข้าขยะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์ และอีกหลายๆ ประเทศในยุโรป ปีละกว่า 800,000 ตัน ให้เพียงพอสำหรับนำมาป้อนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ


ประเทศสวีเดนถือเป็นประเทศแรกๆ ที่คิดริเริ่มโครงการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1940 ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลกยังไม่มีใครตระหนักหรือสนใจกับปัญหาขยะและคิดถึงเรื่องรีไซเคิลมากนัก... และสวีเดนก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม หรือภาคเกษตรกรรม ถูกรวบรวมและจำแนกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ตามคุณสมบัติและความเหมาะสม ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 วงจร ได้แก่ การบำบัดน้ำและกากของเสีย (Wastewater Treatment and Sludge Management) การจัดการขยะมูลฝอย (Solid Waste Management) ระบบก๊าซชีวภาพ (Biogas System) และการจัดการพลังงานส่วนเกิน (Surplus Energy Management)


ขั้นแรกขยะจากครัวเรือนจะถูกจัดการด้วยการคัดแยกขยะเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ในขั้นตอนต่อๆ ไป ด้วยเหตุนี้ขยะจากครัวเรือนเกือบทั้งหมดถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการรีไซเคิล ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการหมักเป็นก๊าซชีวมวลและปุ๋ย หรือกว่า 50% โดยประมาณของขยะทั้งประเทศจะถูกนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าผ่านโครงการจัดการขยะสู่พลังงาน (Waste to Energy Program) ซึ่งขยะปริมาณกว่า 450 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จึงเหลือที่ต้องนำไปฝังกลบจริงๆ ไม่ถึง 1% เท่านั้นส่วนการกำจัดขยะในโรงงานเผาขยะ (Waste Incineration) นอกจากจะจัดการขยะได้มากกว่า 2 ล้านตันต่อปีแล้ว ยังมีผลพลอยได้เป็นพลังงานความร้อนและกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย ขยะจึงกลายเป็นสิ่งมีค่าและเป็นทรัพยากรสำคัญที่นำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ในปี ค.ศ. 2011


ความสำเร็จของความพยายามในการจัดการขยะของประเทศสวีเดนไม่ใช่เพียงมีเทคโนโลยีหรือระบบการจัดการที่ดีเท่านั้น แต่หมายถึงการมอบความรู้และจิตสำนึกให้กับประชากรกว่า 9.5 ล้านคน ให้มีความตระหนักถึงปัญหา และร่วมมือกับโครงการ รวมถึงกฎหมายที่เข้มงวด ความร่วมมือในการจัดเก็บและคัดแยกขยะในสวีเดนเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก เพราะขยะเกือบทั้งหมดถูกนำกลับไปใช้ใหม่ได้ เหลือเพียง 4% เท่านั้น ที่ไม่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่และต้องนำไปถมที่


สวีเดน จึงกลายเป็นต้นแบบด้านการจัดการพลังงานสะอาดในหลายด้าน และที่สำคัญยังเป็นต้นแบบของวิธีการถ่ายทอดความรู้ และจิตสำนึกให้กับผู้คนในประเทศอีกด้วย เฉกเช่นความพยายามของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่มีปณิธานและอยากเห็นทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาด ทั้งนี้เพื่อต้องการให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง


ที่มา : http://www.tgo.or.th/2015/thai/news_detail.php?id=809



bottom of page