top of page

บิลเบาโมเดล จัดการขยะสู่โรงไฟฟ้าของชาวเมืองบิลเบา ประเทศสเปน


3R คือหลักการจัดการขยะง่ายๆ ที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสม สามารถประยุกต์ให้เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งแน่นอนยังมีอีกหลายวิธีการในการแยกและจัดการขยะที่เกิดขึ้นทั่วโลก บิลเบาโมเดล ในเมืองบิลเบา ประเทศสเปน ได้เลือกใช้วิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมกับพลเมือง โดยเริ่มตั้งแต่การรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนแยกขยะ โดยรัฐจะจัดหาถังขยะ 7 ใบ 7 สี แยกตามประเภท เอาไว้ใกล้ๆ กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ขยะที่ถูกจัดแบ่งเป็น 7 ประเภท นั้น ประกอบด้วย 1. ขยะอินทรีย์ 2. ขยะพลาสติก 3. กระดาษ 4. แก้ว 5. เสื้อผ้า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 6. น้ำมันจากครัวเรือน และประเภทที่ 7 ขยะทั่วไป ซึ่งถ้าหากประชาชนยังไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับนี้ ยังทิ้งขยะผิดประเภทลงถัง จะต้องจ่ายค่าปรับตั้งแต่ค่าปรับน้อยๆ ไม่กี่ยูโร ไปจนเสียค่าปรับสูงถึง 1,000 ยูโร เลยทีเดียว


ขยะในถังที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิล หมุนเวียนไปใช้ประโยชน์ใหม่ได้ จะถูกนำมารวมกันและขนส่งมายังโรงไฟฟ้า Zabalgarbi Waste-to-Energy ซึ่งรัฐบาลสเปนถือหุ้นอยู่ 35% และภาคเอกชนถือหุ้นอีก 65% ซึ่งมีพื้นที่รองกับปริมาณขยะที่ส่งเข้ามาสะสมต่อเนื่องของเมืองได้นานถึง 15 วัน


Zabalgarbi Waste-to-Enegy เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ที่ใช้เชื้อเพลิงจากหลายแหล่งด้วยกัน ทั้งเชื้อเพลิงจากขยะ จากก๊าซต่างๆ ที่ส่งมาจากท่อส่งก๊าซของเมืองบิลเบา โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังผลิต 99.5 เมกะวัตต์ (กังหันก๊าซ 43 เมกะวัตต์ และกังหันไอน้ำ 56.5 เมกะวัตต์) มีประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า 42% สามารถกำจัดขยะได้ 30 ตันต่อชั่วโมง


โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะเดินเครื่องเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยจะเน้นส่วนที่เป็นขยะทั้ง 100% โดยไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซต่างๆ จะใช้เพื่อเติมกำลังผลิตให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าตามข้อตกลงโรงไฟฟ้าเท่านั้น เนื่องจากทางโรงไฟฟ้ามีข้อผูกพันกับรัฐบาลในการลดขยะเป็นหลัก และต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องขยะของเมืองอย่างจริงจัง


บิลเบาโมเดล เป็นอีกเมืองหนึ่งที่สามารถแสดงให้เห็นศักยภาพของชาวเมืองและความพยายามของภาครัฐที่พยายามแก้ไขปัญหาขยะอย่างจริงจัง และการมองเห็นทางออกโดยนำไปสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด เฉกเช่นโรงไฟฟ้าขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าขยะหนองแขม โรงไฟฟ้าขยะขอนแก่น โรงไฟฟ้าขยะภูเก็ต ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่พยายามเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองทั้งสิ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นไปตามพันธกิจของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กพ.) ที่อยากเห็นการใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน อย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่



bottom of page