top of page

Solar POH โซลาร์โป๊ะนวัตกรรมพลังงานสะอาด เพื่อการสัญจรทางน้ำ


แน่นอนทุกการสัญจรเรื่องที่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “ความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้งาน” ซึ่งนี่ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้นักออกแบบหลายคนลืมคำนึงถึงเรื่องของภาพลักษณ์ที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และ เรื่องของพลังงานที่เป็นสิ่งจำเป็นในทุกการออกแบบ จึงทำให้นักออกแบบจาก 3 เจเนอเรชั่น มองว่านี่คือสิ่งที่ต้องระดมสมองและสร้างสรรค์ผลงานที่มีชื่อว่า “Solar POH โซลาร์โป๊ะ”


“Solar POH โซลาร์โป๊ะ” คือนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตการเดินทางของผู้คน ซึ่งแน่นอนนอกจากจะเน้นเรื่องของความปลอดภัยและสะดวกสบาย โซลาร์โป๊ะยังเน้นเรื่องของงานดีไซน์ที่กลมกลืน สวยงามเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี โดยไฮไลท์ของการออกแบบคือการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์และระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อผลิตไฟฟ้า ในการส่องสว่างและใช้เป็นพลังงานสำรองอื่นๆ โดยบรรจุผ่านแบตเตอรี่ไว้ใช้ในยามกลางคืนอีกด้วย


ทีมมองเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่หลายคนมองว่าเป็นต้นเหตุแห่งความร้อนอบอ้าว สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความปลอดภัยและความสวยงามของโป๊ะเรือริมน้ำได้ ทีม SolarPOH ตั้งใจที่จะพัฒนาให้โป๊ะเรือส่องสว่างเช่นเดียวกับแลนด์มาร์คริมน้ำโดยเฉพาะในยามค่ำคืน พวกเขาจึงได้ออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งรอบบริเวณโป๊ะโดยรบกวนการออกแบบดั้งเดิมให้น้อยที่สุด โซลาร์เซลล์จะทำหน้าที่เก็บพลังงานแสงอาทิตย์เอาไว้และแปลงมาเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี เพื่อนำไปเป็นแสงสว่างให้กับป้ายชื่อของโป๊ะ และการใช้งานภายในท่าเรือ


โดยผลงานชิ้นโบว์แดงนี้เกิดจากการระดมสมองของสมาชิกทั้ง 3 คน 3 เจเนอเรชั่น ได้แก่ คุณศศินันท์ คิรินทร์รัตนะ คุณกัญญาณัฐ คมวิชายั่งยืน และคุณบัญชา สระทอง ที่มาจากจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามที่ว่า


“ทำไมการคมนาคมทางน้ำไม่ได้รับความนิยมเท่ากับการเดินทางบนบก?”

และพวกเขาก็มองเห็นทางออกในการเลือกพลังงานสะอาดมาใช้พัฒนาโป๊ะเทียบเรือและบริการให้ดีขึ้น น่าสนใจและน่าใช้งานมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ทางอ้อมยังสามารถลดการใช้การจราจรทางบกได้อีกด้วย


“Solar POH โซลาร์โป๊ะ” คือหนึ่งในผลงานของ Solar Vengers หรือ โครงการนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ที่รวบรวมนักคิด นักพัฒนาและนักสร้างสรรค์จากหลายวงการมาร่วมกันดึงความสามารถของพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นพลังงานสะอาดต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)



bottom of page