top of page

INTERCEPTOR เรือเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ที่แม่น้ำเจ้าพระยา


“มนุษย์” ได้สร้างปัญหาขยะให้ท้องทะเลและมหาสมุทรมากมาย ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 นิตยสาร Science Advances ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสมาคมการศึกษาทางทะเล (Sea Education Association) รัฐแมสซาชูเซทส์ สหรัฐอเมริกา ระบุว่าผู้คนทั่วโลกร่วมกันสร้างขยะสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรมากกว่า 6,300 ล้านตัน ซึ่งมีเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกต้อง 12% ถูกนำไปเผาซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และขยะที่เหลือ 79% ยังตกค้างอยู่ในธรรมชาติ


จากปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้หลายประเทศมีแนวคิดการจัดการขยะก่อนที่จะกระจายลงสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรแบบที่ควบคุมไม่ได้ ทั้งการติดเครื่องดักจับขยะ หรือ การวางระบบบำบัดน้ำอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งล่าสุดสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ องค์กร The Ocean Cleanup จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผู้ที่คิดค้นนวัตกรรมทุ่นดักขยะทะเลซึ่งใช้กำจัดแพขยะในมหาสมุทร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันผลักดันปัญหาขยะในท้องทะเลของไทยขึ้นมาเป็นวาระ และได้นำเครื่อง Interceptor เพื่อวิจัยขยะพลาสติกในแม่น้ำ และการดักเก็บขยะพลาสติกในแม่น้ำก่อนกระจายออกสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรมาใช้ โดยจะทำการติดตั้งบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 3 จุด จุดแรกถูกติดนำร่องแล้ว ที่บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า และนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเลโดยใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ


เรือพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งเครื่อง Interceptor แต่ละลำสามารถดักเก็บขยะมูลฝอยอัตโนมัติ โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งจัดเก็บขยะได้มากถึง 3–4 ตันต่อวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในพื้นที่ หรือเฉลี่ยแล้วสามารถลดปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้ถึงร้อยละ 60 โดยขยะที่เก็บรวบรวมได้จะถูกนำมาคัดแยก และกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ซึ่งถ้ามีปริมาณขยะที่มากพอก็สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตเป็นเชื้อเพลิงไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้


เทคโนโลยีนี้จะช่วยลดปัญหาขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมก่อนไหลลงสู่ทะเล และช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดต่อสัตว์ทะเลหายาก ทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศชายฝั่งด้วย ซึ่งเมื่อเราใช้เทคโนโลยี Interceptor อย่างเต็มระบบแล้วก็จะสามารถช่วยลดและแก้ไขปัญหาขยะ ซึ่งในปี พ.ศ. 2560 พบว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่ออ่าวไทย มีปริมาณขยะสูงถึง 2,172 ตัน หรือกว่า 173 ล้านชิ้นเลยทีเดียว


Interceptor ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ภาครัฐนำมาให้ในการจัดการขยะ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าทางที่ดีที่สุดการแก้ไขปัญหานี้ควรเกิดขึ้นจากการจัดการขยะหรือลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง แต่แน่นอนการไม่เกิดขยะเลยเป็นไปได้ยาก และเมื่อเกิดขยะแล้วการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ถือเป็นหนทางแก้ไขปัญหาอีกวิธีหนึ่ง เช่นการนำขยะไปเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งสามารถก่อเกิดประโยชน์กับชีวิตของผู้คนต่อไป ตามเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่อยากเห็นคนไทยใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


bottom of page