top of page

BIG BELLYถังขยะอัจฉริยะใช้จากพลังงานสะอาด จากแสงอาทิตย์


จากปัญหาขยะล้นเมืองในหลายประเทศทั่วโลก… ทำให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงผลกระทบและเริ่มสร้างแนวคิดจิตสำนึกร่วมกันในการออกแบบโครงสร้างเมืองใหม่ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่นั่นก็มีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ด้านภูมิทัศน์ และการออกแบบระบบต่างๆ เพื่อให้สามารถจัดการปัญหาขยะได้โดยง่าย สะดวก สะอาด และประหยัดค่าใช้จ่าย


Big Belly เป็นอีกแนวคิดและอาวุธสำคัญ ที่ใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงาน เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของเมือง ผลงานนี้ถูกคิดค้นโดยเหล่านักประดิษฐ์สัญชาติออสเตรเลีย เพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมทัศนียภาพที่สวยงามให้กับเมือง และลดการสร้างมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมภายในเมืองในเวลาเดียวกัน


สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ประกอบไปด้วย ตัวถังขยะอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ มาผนวกให้เป็นพลังงานขับเคลื่อนกลไกอุปกรณ์ของถังขยะ สามารถดัดแปลงหน้าตาพร้อมตกแต่งลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ตามความต้องการของแต่ละเมืองได้ พร้อมทั้งมีการออกแบบเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันแจ้งเตือนการเก็บขยะซึ่งเชื่อมต่อกับระบบการจัดเก็บขยะของเมืองอย่างครบวงจร

Big Belly ถือเป็นอาวุธที่ช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเมือง ที่หยิบเอาข้อจำกัดมากำจัดปัญหาในการพัฒนา และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในพื้นที่เมือง เมื่อเทียบกับระบบการออกแบบ และบริการเมืองในบริบทประเทศไทย สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้สามารถเสริมจุดอ่อนในด้านการบริหารจัดเก็บขยะได้อยู่หลายประการ


1. สิ่งประดิษฐ์ที่กำจัดความจำกัด

Big Belly มีการใช้ระบบการบดอัดขยะที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ สามารถช่วยลดข้อจำกัดเชิงพื้นที่ของเมือง ตัวถังขยะมีการออกแบบระบบบดอัดที่ทำให้สามารถบรรจุขยะได้มากกว่า 5 เท่า ของถังขยะปกติ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ โดยลดความถี่ในการจัดเก็บไปกว่าร้อยละ 70 ถึง 80 เมื่อเทียบกับการพัฒนาเมืองในบริบทประเทศไทยแล้ว พบว่าในเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ มีข้อจำกัดเชิงพื้นที่อยู่มาก ทั้งข้อจำกัดของการให้บริการถังขยะตามจุดต่างๆ อย่างเพียงพอตามมาตรฐาน รวมถึงภายในพื้นที่เมืองเก่า หรือตามชุมชนยังมีการออกแบบขนาดของโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ เช่น ถนนมีตรอกซอกซอยที่แคบ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการจัดเก็บขยะ ทำให้การบริการจัดเก็บขยะบางส่วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตภายในเมือง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Big Belly น่าจะสามารถเป็นอาวุธสำคัญที่สามารถยกระดับการให้บริการถังขยะ และส่งเสริมประสิทธิภาพการบริการจัดเก็บขยะบริเวณพื้นที่ที่จำกัดของเมืองได้


2. สิ่งประดิษฐ์สุดยอดนักจัดระเบียบ

ในประเทศไทยภัยคุกคามจากของเสียที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์เป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการจัดระเบียบ และความสวยงามของเมือง ซึ่งมีผลต่อสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตภายในเมือง ทั้งในด้านกายภาพ และในเชิงเศรษฐกิจเมือง ด้วยระบบบดอัดขยะจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งอยู่บนตัวถัง และการออกแบบตัวถังที่ปิดมิดชิดของ Big Belly ช่วยให้ลดการกระจายตัวของขยะจากลมที่พัด ทำให้เมืองมีทัศนียภาพที่สะอาด ไร้กลิ่นรบกวน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งซุกซ่อนชั้นดีของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หนู แมลง เป็นต้น นอกจากนี้ตัวถังขยะของ Big Belly ยังสามารถออกแบบและเลือกลวดลายให้เข้ากับบริบทเมืองต่างๆ ได้อีกด้วย


3. สิ่งประดิษฐ์เพื่อลดมลพิษ

จะเห็นได้ว่าในบริบทการพัฒนาเมืองของประเทศไทยมีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวเนื่องจากประเด็นการครอบครองพื้นที่และกรรมสิทธิ์ที่ดิน การใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดสรรระบบบริการจัดการขยะจึงเป็นประเด็นที่ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมภายในเมืองได้ Big Belly ถือเป็นนวัตกรรมที่มีการออกแบบส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ด้วยการบันทึกข้อมูลการจัดเก็บขยะแบบ Cloud-Connected โดยมีบริการแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อกับเซนเซอร์ภายในตัวถังขยะ คอยแจ้งเตือนปริมาณขยะในถังแบบ Real-Time ทำให้ผู้จัดเก็บสามารถจัดสรรบุคลากร และจัดเส้นทางการเดินทางจัดเก็บขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลพิษจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการสัญจร และลดต้นทุนการจัดเก็บ


ทั้งนี้การจะสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อช่วยจัดการเรื่องขยะของเมืองให้สะอาดอย่างเป็นระบบนั้น สำหรับในประเทศไทยยังต้องมีการพัฒนาขึ้นไปให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และลักษณะพฤติกรรมการทิ้งขยะของคนไทยอีกมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ปัจจุบันเราจะทำได้ คือ การรับรู้ข่าวสารและข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องของพลังงานสะอาด ต้องขอขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ในการสร้างองค์ความรู้และแหล่งรวบรวมข้อมูล เพื่อสนับสนุนให้ทุกพื้นที่ใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน และไม่แน่ในอนาคต ประเทศไทยอาจมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จากฝีมือเครือข่ายคนบันดาลไฟก็เป็นได้


ที่มา : https://web.tcdc.or.th/en/Articles/Detail/solarland


Comments


bottom of page