top of page

3 บ่อหมักเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ เพื่อผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน


ก๊าซชีวภาพ” เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการหมักน้ำและของเสีย การผลิตก๊าซชีวภาพส่วนใหญ่จะแยกตามแหล่งที่มาของน้ำเสีย ได้แก่ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ของเสียจากอุตสาหกรรม หรือ ขยะมูลฝอยและครัวเรือน ปัจจุบันเรามีวิธีการและเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพมากมาย


การใช้บ่อหมักแบบไร้ออกซิเจนแบบช้า หรือ Low rate anaerobic reactor คือวิธีการหมักก๊าซชีวภาพแบบปราศจากออกซิเจน เพื่อให้สารอินทรีย์ที่อยู่ในบ่อเกิดการหมักไปเรื่อยๆ จนได้ก๊าซชีวภาพที่ต้องการ ซึ่งบ่อหมักหรือรูปแบบการหมักที่นิยมมีอยู่ 3 วิธีการ นั่นคือ


แบบโดมคงที่ (Fixed dome digester) การสร้างด้วยคอนกรีตฝังอยู่ในดิน โดยมีท่อต่อจากด้านนอกเพื่อเติมมูลสัตว์ และท่อระบายให้ไหลออก ส่วนการเก็บก๊าซสร้างด้วยคอนกรีตติดกับบ่อหมัก ทั้งนี้แรงดันของก๊าซขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซในบ่อ


แบบฝาครอบลอย (Floating drum digester) ใช้ในการกำจัดมูลของสัตว์เลี้ยงที่กองอยู่ใต้ถุนบ้าน และแก้ปัญหาด้านสุขอนามัย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นเพียงผลพลอยได้จากกระบวนการเท่านั้น


แบบรางขนาน (Plug flow digester) ซึ่งมี 2 รูปแบบ

1. แบบพลาสติกคลุมบ่อดิน (Cover lagoon) ใช้ถุงยางสีดำที่มีความหนาพอสมควรมาเก็บก๊าซ โดยสร้างครอบไปบนบ่อที่ใส่มูลสัตว์อยู่แล้ว อาจเป็นบ่อคอนกรีตหรือดินขุด ทั้งนี้อาจปูแผ่นยางที่ใช้ปูสระเก็บน้ำมาปูทับ เพื่อมิให้เกิดการรั่วซึมของของเสียลงใต้ดินได้ ซึ่งเมื่อมีก๊าซอยู่ในบ่อหมักแล้ว ถุงยางสีดำก็จะพองและสามารถนำก๊าซไปใช้ได้

2. แบบพลาสติกคลุมราง (Channel digester) มีรูปร่างยาวคล้ายรางหรือคลองส่งน้ำ บนบ่อหมักมีพลาสติกคลุม เพื่อใช้เก็บก๊าซชีวภาพ ตัวบ่อหมักฝังอยู่ในดิน ท่อเติมมูลและท่อนำมูลออกอยู่ทางหัวและท้ายบ่อ โดยใช้พลาสติกเป็นตัวเก็บก๊าซ แรงดันก๊าซจึงค่อนข้างต่ำ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เพิ่มแรงดันเพื่อนำก๊าซไปใช้งาน


ซึ่งวิธีการได้มาซึ่งก๊าซชีวภาพนั้นอาจทำได้หลายรูปแบบ แต่นำไปสู่วัตถุประสงค์เดียวกัน คือการจัดการของเสียให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ว่าจะนำไปเป็นก๊าซหุงต้ม หรือ นำไปเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดก็ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งสิ้น รวมถึงยังสามารถดูแลสิ่งแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนได้อีกด้วย ตามเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่อยากเห็นการใช้พลังงานสะอาดเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยอย่างยั่งยืน



bottom of page