“โควิด-19 “ โรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นเหตุให้ทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม การล้างมือบ่อยๆ และการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ซึ่งนั่นส่งผลให้เกิดขยะจากหน้ากากอนามัยจำนวนมาก และสิ่งที่ยากต่อการจัดการคือขยะพวกนี้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเชื้ออื่นๆ
สถานพยาบาลที่มีอยู่กว่า 38,000 แห่งทั่วประเทศไทย สร้างขยะติดเชื้อทางการแพทย์มากถึง 55,497 ตันต่อปี ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ที่ทำให้ทุกๆ คนต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ และสารคัดหลั่งของผู้ป่วย จึงทำให้จำนวนขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ตามมา
รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าทีมนักวิจัย จึงได้นำปัญหาเหล่านี้มาสร้างนวัตกรรม เพื่อจัดการขยะประเภทหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด จนนำมาสู่แนวความคิดการออกแบบและพัฒนา "ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์" ต้นแบบนวัตกรรมสัญชาติไทยเครื่องแรก ที่นำหน้ากากอนามัยใช้แล้วและขยะติดเชื้อทางการแพทย์มาผ่านกระบวนการผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้ได้จริง
"ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์" เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาปริมาณขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่มีปริมาณมาก โดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ อีกทั้งยังสอดรับกับทิศทางการใช้พลังงานสะอาดของประเทศในอนาคต
ผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาวิจัยนานกว่า 5 ปี จนได้เครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง กระบวนการทำงาน เริ่มจากการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิง และถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ความร้อนที่ได้มาจะถูกจ่ายสู่เครื่องจักรไอน้ำโดยระบบ วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์ (Organic Rankine Cycle : ORC) เพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า ซึ่งพลังงานไฟฟ้า 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถใช้เปิดเครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 บีทียู ได้พร้อมกัน 25 เครื่อง และจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่าการกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม ด้วยวิธีนี้มีต้นทุนเพียง 3.185 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่ต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท
ผลงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้รับรางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ และได้ถูกจัดแสดงนิทรรศการ Thailand New Gen Inventors Award 2021 (I-New Gen Award 2021) ในงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2564 ในชื่อผลงานสิ่งประดิษฐ์ “ระบบผลิตไฟฟ้าวัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์จากพลังงานทดแทนแบบผสมผสานของขยะชุมชนและพลังงานแสงอาทิตย์” ซึ่งนอกจากจะเป็นความสำเร็จในการจัดการขยะหน้ากากอนามัยและขยะติดเชื้อแล้ว ยังเป็นความสำเร็จในการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดระดับชุมชน ตามเจตนารมณ์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนด้วยการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน
コメント