
เมื่อ “โลกรวน” อันเกิดจากความแปรปรวนของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หลายคนเริ่มตระหนัก และหันมาให้ความสำคัญกับการเยียวยารักษาอาการปรวนแปรของโลกก่อนจะสายเกินแก้ ขณะที่อีกหลายคนอาจตั้งคำถามว่า “โลกรวน” นั้นสำคัญยังไง ?!?! . ปรากฏการณ์ “Climate Change” คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ “สภาวะโลกรวน” เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกจากการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก เพราะกิจกรรมของมนุษย์ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา มีการเผาผลาญเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ภูมิอากาศทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน และเมื่ออุณหภูมิบนพื้นดินและมหาสมุทรสูงขึ้น ความแปรปรวนของสภาวะอากาศตามธรรมชาติจึงยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เกิดเป็นภัยธรรมชาติต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ภูเขาน้ำแข็งละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลทางขั้วโลกเพิ่มขึ้น อันเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมได้ทุกทวีป ในทวีปเอเชียมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดสภาวะอากาศแปรปรวน ทั้งร้อน แห้งแล้ง เกิดพายุหนักทำให้เกิดทั้งอุทกภัยและวาตภัย ผลิตผลทางอาหารลดลง ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์ทะเล หิมะตกกลางทะเลทราย และอีกมากมาย . ภัยธรรมชาติทั้งหลายที่เปลี่ยนไปนี้ เหมือนเป็นปฏิกิริยาของโลกที่พยายามส่งสัญญาณบอกให้รู้ว่า โลกกำลังป่วยหนักหนาเพียงใด และอาการป่วยเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากเราทุกคนยังไม่หันมาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น ร่วมเป็นหนึ่งในการส่งเสียงให้ทุกคนได้ตระหนักและหันมาช่วยกันเปลี่ยนโลกให้พ้นจากวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติ . “โครงการคนบันดาลไฟ” ภายใต้แนวคิด “ใครไม่ Change Climate Change” จึงเกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้ความรู้ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการใช้พลังงานสะอาด หรือ Energy Transition เป็นเครื่องมือกอบกู้โลก ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงาน อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) อันเป็นตัวช่วยในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเป็นผู้ช่วยในการสื่อสารบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานกำกับกิจการพลังงานสู่ประชาชนคนไทยทุกคน ให้มาร่วมด้วยช่วยกัน “เปลี่ยน” พฤติกรรมตั้งแต่วันนี้เพื่อวันหน้าที่ดีกว่า . รู้หรือไม่ “พลังงานสะอาด” เป็นหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยกอบกู้โลกได้ . . พลังงานสะอาด (Clean Energy) นับเป็นแหล่งพลังงานสำคัญที่ได้เชื้อเพลิงธรรมชาติที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและโลก ไม่ก่อให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายเหมือนพลังงานชนิดอื่น ที่อาจมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิต แปรรูป การนำไปใช้ประโยชน์ และการจัดการกากหรือของเสีย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งการเลือกใช้ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “Electric Vehicle (EV)” นับเป็นการใช้พลังงานสะอาดที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน . “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “Electric Vehicle (EV)” คือ ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้าแทนการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้สันดาป โดยจะใช้พลังงานไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันหรือพลังงานอื่น ซึ่งระบบรถไฟฟ้าจะเก็บพลังงานเอาไว้ในแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้ และแปลงพลังงานจากแบตเตอรี่มาใช้ในการขับเคลื่อนรถ ด้วยความที่ไม่มีกลไกซึ่งต้องใช้การจุดระเบิดเผาไหม้ในการขับเคลื่อนเหมือนรถที่ใช้น้ำมัน เครื่องยนต์จึงเงียบ และไม่มีไอเสียจากการเผาผลาญพลังงาน นับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีของพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ทำร้ายโลก และยังช่วยประหยัดเงิน เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าราคาถูกกว่าน้ำมัน อีกทั้งการบำรุงรักษามีแค่ในส่วนของมอเตอร์ไฟฟ้า ไม่มีของเหลวหรือกรองของเหลวเหมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน และยังสะดวกสบายเพราะสามารถชาร์จพลังแบตเตอรี่จากที่บ้านได้ แต่ด้วยความที่สถานีบริการชาร์จพลังแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าอาจยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงทำให้ต้องมีการวางแผนการเดินทางให้ดี . นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ “ระบบกักเก็บพลังงาน” หรือ “Energy Storage System (ESS)” อันเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ให้สามารถสั่งจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วยลดความผันผวนของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทนให้มีความเสถียรมากขึ้น ทั้งยังเปรียบได้กับ Power Bank ที่ใช้กักเก็บพลังงานสำรองเมื่อมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดต้นทุนและสร้างความยั่งยืนทางด้านพลังงาน ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจ และติดตั้งแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นของตนเอง ทำให้ผู้บริโภคไฟฟ้ากลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้ในคราวเดียว โดยส่วนใหญ่ระบบไฟฟ้าเหล่านี้จะอยู่ในรูปแบบพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ทำได้เฉพาะช่วงกลางวัน เมื่อมีการนำระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) มาใช้ จะสามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตได้มากมากักเก็บไว้ก่อนในช่วงที่ยังไม่มีความต้องการใช้ไฟฟ้า จากนั้นจึงใช้ไฟฟ้าที่กักเก็บไว้หลังพระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ . แม้สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงจนเกิดผลกระทบที่มนุษย์ทั่วโลกกำลังประสบกับภัยพิบัติต่างๆ จนทำให้การดำรงชีวิตมีทั้งความ “ยาก” และ “ลำบาก” มากขึ้น แต่หากเราทุกคนพร้อมใจช่วยกัน “ปรับ” และ “เปลี่ยน” พฤติกรรม หันมาเลือกใช้พลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หรือการใช้ “ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ให้มากขึ้น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม แต่ทุกชีวิตจะยังคงดำรงอยู่บนโลกต่อไปได้อย่างยืนยาวและยั่งยืนยิ่งขึ้น . มาร่วมกัน “เปลี่ยน” ตั้งแต่วันนี้ เพื่อวันหน้าที่ดีกว่า...
ที่มา : https://www.scimath.org/article.../item/10620-climate-change https://gracz.co.th/blog/post/planet-global-warming https://erdi.cmu.ac.th/?p=2956 https://www.bangkokbanksme.com/en/11up-energy-storage-system