👉ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่กำลังส่งผลกระทบในรูปของภัยพิบัติที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่นี้ บางคนอาจคิดว่าสาเหตุมาจาก “โลกร้อน” ขณะที่บางคนกลับบอกว่าธรรมชาติกำลังส่งเสียงเพื่อเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่า “โลกรวน” แต่หลายคนคงรู้สึกสงสัยว่า “โลกร้อน” กับ “โลกรวน” ต่างกันอย่างไร รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว “โลกรวน” กับ “โลกร้อน” นั้นเป็นคนละเรื่องเดียวกัน!!!
.
“โลกร้อน” คือส่วนหนึ่งของ “โลกรวน” 🌏
สภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming คือ การที่อุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยบนโลกสูงขึ้น โดยในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ส่วนใหญ่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ในชั้นบรรยากาศเพิ่มสูงขึ้น จนก่อเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) จึงส่งผลให้มีการสะสมความร้อนมากเกินไปและทำให้อุณหภูมิทั่วโลกสูงขึ้น และเกิดเป็น “สภาวะโลกร้อน” ในที่สุด ️🌤
.
เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนกระทบกับวิถีธรรมชาติและภูมิอากาศเดิม จึงเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความแปรปรวนกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่างๆ บนโลก นั่นคือ “สภาวะโลกรวน” หรือ “Climate Change” ดังนั้น “โลกร้อน” จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “สภาวะโลกรวน” นั่นเอง
จากรายงานความเสี่ยงของโลกปี 2020 โดย World Economic Forum ด้านสิ่งแวดล้อมพบว่า 5 อันดับแรกจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นสัญญาณความเสี่ยงของโลก ได้แก่
1. สภาพอากาศที่รุนแรง
2. ความล้มเหลวจากการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3. การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ
4. ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด
5. ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาป่า การสูบน้ำใต้ดินปริมาณมากจนส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน
.
เหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “ภาวะโลกรวน” หรือ Climate Change ที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงแค่เรื่องของ “โลกร้อน” แต่ครอบคลุมถึงความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศ ทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฝนหลงฤดู พายุต่างๆ ที่มีความถี่และรุนแรงขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้ว Climate Change นั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่จะใช้เวลานานเป็นหลักร้อยถึงหลักพันปีกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เพราะการกระทำของมนุษย์ในปัจจุบันเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เกิดความแปรปรวน จนเกิดเป็น “สภาวะโลกรวน” ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
.
หยุด “โลกร้อน” เพื่อลด “สภาวะโลกรวน” ⛈⚡️
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ Climate Change เกิดขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ สภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงระยะเวลาที่ยาวนาน โดยการรวมตัวกันของทั้ง 2 ปัจจัยนี้ส่งผลให้ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีทั้งความรุนแรงมากขึ้น มีความถี่ขึ้น และสามารถคาดเดาได้ยากขึ้น หากเราปล่อยให้อุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งสร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้น
.
แบบจำลองนักวิจัย เอ็มไอที-คาลเท็ค ระบุว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดพายุฝนรุนแรงมากขึ้นถึง 6% ซึ่งมีความสอดคล้องกับนักวิจัยอื่นๆ ที่มีการรวบรวมข้อมูลไว้อีกว่า หากอุณหภูมิสูงขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ทะเลทรายแห้งแล้งขึ้น น้ำแข็งที่ปกคลุมเทือกเขาและธารน้ำแข็งละลาย หมู่เกาะมัลดีฟส์และเกาะอื่นๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกจะหายไป สิ่งมีชีวิตบางชนิดสูญพันธุ์ เกิดน้ำท่วมในเมืองต่างๆ จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดยจากรายงานโครงการ Copernicus Climate Change Service (C3S) ของสหภาพยุโรป พบว่าอุณหภูมิโลกเฉลี่ยในปี 2021 อยู่ที่ 1.1-1.2 องศาเซลเซียสเหนือกว่าระดับในปี 1850-1900 และเมื่อเปรียบเทียบย้อนหลังไปถึงปี 1850 พบว่าโลกมีอากาศร้อนที่สุดอย่างชัดเจนใน 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่ร้อนที่สุดในประวัติการณ์คือปี 2016 และปี 2020
.
นักวิจัยยังกล่าวไว้ว่า หากเรายังปล่อยให้โลกอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียส จะเกิดคลื่นความร้อน (Heat Wave) ทั่วโลก ทำให้ผู้คนจะมีอาการช็อกจากความร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก เกิดสภาวะแห้งแล้งไปทั่ว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลกจนท่วมเมืองชายฝั่งของมหาสมุทรอย่างกว้างขวาง สิ่งมีชีวิตประมาณ 1 ใน 3 ของโลกจะสูญพันธุ์ หรือหากอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส จะเกิดการอพยพของประชากรโลกครั้งยิ่งใหญ่ เกิดสงครามแย่งน้ำและอาหาร เกิดไฟป่าขึ้นมากมาย ป่าไม้ของโลกสูญพันธุ์ 10% น้ำแข็งทั้ง 2 ขั้วโลกละลายอย่างมหาศาล เมืองต่างๆ จมอยู่ใต้น้ำ
แม้จะไม่สามารถทำให้โลกกลับไปเหมือนเก่า แต่เราทุกคนสามารถช่วยกันยับยั้งและชะลอไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนเกินเยียวยาได้ แค่เราทุกคนช่วยกัน “เปลี่ยน” พฤติกรรม หันมาช่วยกัน “รักษ์โลก”
เพราะถ้า “ใครไม่ Change Climate Change” 🌍🌈
ที่มา :
https://littlebiggreen.co/blog/global-warming-and-climate-change
https://www.thansettakij.com/insights/502757
https://thestandard.co/amid-global-warming/
https://www.sdgmove.com/2022/01/11/2021-was-worlds-fifth-hottest-year-on-record/
Comentários