“เปลือกกุ้ง” ทำอะไรได้บ้าง… ทอดเกลือ อาหารสัตว์ หรือเพียงทิ้งลงถังขยะไป?
หลังมื้ออาหาร คุณเคยคิดไหมว่า เราจะเอาเปลือกกุ้งไปทำอะไรต่อ หากคุณกำลังคิดกำจัดมันโดยการทิ้งแบบไร้ประโยชน์ อยากให้คุณลองอ่านบทความนี้ก่อน เพราะเปลือกกุ้งสามารถนำไปผลิตเป็นโซลาร์เซลล์ เพื่อไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้แล้ว
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Queen Mary University of London (QMUL) ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างแผงโซลาร์เซลล์จากสารเคมีที่อยู่ในเปลือกกุ้ง ซึ่งได้นำสารไคทิน (Chitin) และสารไคโทซาน (Chitosan) ที่อยู่ในเปลือกของสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง กั้ง และปู มาทำการวิจัยและทดลองผลิตแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกมากเมื่อเทียบกับโซลาร์เซลล์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดประเภท รูทีเนียม (Ruthenium)
ถึงแม้ว่าโซลาร์เซลล์ที่สร้างจากสารเคมีในเปลือกกุ้งนี้จะยังมีประสิทธิภาพต่ำ แต่ก็ยังสามารถพัฒนาให้นำมาใช้กับที่ชาร์จแบตเตอร์รีแบบพกพา สำหรับ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งแผ่นฟิล์มกึ่งโปร่งแสง (Semi-transparent films) สำหรับกระจก ก็ใช้ได้
นักวิจัยใช้กระบวนการไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอไนเซชัน (Hydrothermal Carbonization) และได้ Carbon Quantum Dots (CQDs) จากสารเคมีที่อยู่ในเปลือกกุ้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทำได้จริงและราคาถูก จากนั้นจึงนำสาร Standard Zinc Oxide Nanorods มาเคลือบบน CQDs เพื่อทำเป็นแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดแสงอาทิตย์ต่อไป
จากโครงการวิจัย นักวิจัยยังมีแนวคิดที่จะสร้างความเป็นไปได้ในการผลิตโซลาร์เซลล์จากสารอินทรีย์ต่างๆ เช่น ชีวมวล สาหร่าย เป็นต้น ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตที่สามารถผลิตได้จริงและมีราคาถูก นอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังสามารถนำมาผลิต Supercapacitors สำหรับเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อใช้ในเครื่องกระตุ้นหัวใจ และใช้สำหรับระบบการนำพลังงานกลับมาใช้ใหม่ (Energy Recovery) ในยานพาหนะได้อีกด้วย
หากในอนาคตแผงโซลาร์เซลล์จากเปลือกกุ้งนี้ ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น เชื่อว่าผู้คนทั่วโลกจะได้รับประโยชน์หลักๆ ถึง 2 ทาง อย่างแรกคือการจัดการขยะอินทรีย์ที่ตกค้างหรือต้องทิ้งไปเช่นเปลือกกุ้ง เปลือกปู และได้ประโยชน์จากการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากเปลือกกุ้งอีกทาง แน่นอนว่าประเทศไทยสามารถนำข้อดีด้านการเป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากเปลือกกุ้งนี้มาเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเกษตรในอนาคตได้ด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามปณิธานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ที่อยากเห็นคนไทยใช้พลังงานสะอาดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคน รวมไปถึงเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอีกด้วย
Comentarios