top of page

“โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารตลาดร่มสัก จังหวัดเชียงใหม่ ” จากขยะมูลฝอย สู่พลังงานสะอาดก๊าซชีวภ


ตลาด คือสถานที่ที่ก่อเกิดขยะจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย ขยะจากเศษอาหาร ขยะจากโฟมหรือพลาสติก แม้กระทั่งน้ำเสียที่เกิดจากการชะล้าง หรือการหมักหมมของขยะ และที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น คือขยะเหล่านี้กลายเป็นหน้าที่ของคนที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น ทำให้การจัดการเป็นไปได้อย่างไม่ทั่วถึง จากปัญหานี้ทำให้ตลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถจัดการขยะเหล่านี้ให้เกิดคุณค่า และประโยชน์ ผ่านการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ นั่นคือ “ตลาดร่มสัก” หรือที่รู้จักของชาวเชียงใหม่ในชื่อ “กาดหินฝน”


ตลาดแห่งนี้เป็นศูนย์รวมการจำหน่ายอาหารของชาวบ้าน ที่อาศัยพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้ที่มาใช้บริการกันส่วนใหญ่ ก็จะเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และชาวบ้านบริเวณโดยรอบ อาหารการกินที่นี่มีตั้งแต่ ร้านอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง หอยทอด ส้มตำ จิ้มจุ่ม อาหารพื้นเมือง ขนมไทย เบเกอรี่ และอีกมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่ารสชาติอาหาร นั่นคือการจัดการขยะมูลฝอยที่เกิดจากการใช้ชีวิต การซื้อขาย และการกินของลูกค้าในตลาดแห่งนี้


สำหรับ “โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารตลาดร่มสัก” เป็นโครงการต้นแบบสำหรับการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน มีจุดมุ่งหมายที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาด ทั้งยังสามารถผลิตพลังงานทดแทนเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน ซึ่งโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพของสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


แนวคิดการจัดการขยะของที่นี่ คือการรวบรวมขยะตั้งแต่ต้นทางให้ได้มากที่สุด นำมาแยกประเภท ก่อนจะนำเข้าระบบการผลิต ไบโอก๊าซ หรือ ก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารและขยะมูลฝอย ซึ่งได้ทำการเดินระบบมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถผลิตก๊าซชีวภาพปริมาตรสูงสุด 16 ลูกบาศก์ก์เมตรต่อวัน ผลิตกากตะกอนปุ๋ยสูงสุด 2-5 กิโลกรัมต่อวัน โดยนำก๊าซชีวภาพไปทดแทนก๊าซหุงต้มได้เดือนละ 5-6 ถัง เพื่อสำหรับต้มน้ำฆ่าเชื้อโรคหลังจากการทำความสะอาดภาชนะ เป็นระยะเวลา 6 ชั่วโมงต่อวัน ปัจจุบันระบบมีกำลังการผลิต 50% ของของเสียเศษอาหาร (ข้อมูลสะสมถึงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558) และเมื่อคำนวณคร่าวๆ โครงการฯ แห่งนี้สามารถกำจัดของเสียจากโรงอาหารตลาดร่มสักได้มากกว่า 119 ตันแล้ว และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพสะสมได้สูงถึง 8,326 ลูกบาศก์ก์เมตร โดยสามารถทดแทนก๊าซแอลพีจีได้มากถึง 4,163 กิโลกรัม อีกด้วย


แนวคิดการจัดการขยะที่ตลาดร่มสัก หรือ กาดหินฝน ถือเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน และ มหาวิทยาลัย ผ่าน “โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหารตลาดร่มสัก” ที่ต้องการลดปริมาณขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม และ ปลายทางของขยะมูลฝอยที่ต้องทิ้งจริงๆ นำเข้าสู่กระบวนการหมักก๊าซชีวภาพจนได้เป็นเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรอบ ซึ่งถ้าหากโครงการฯ แห่งนี้มีปริมาณเชื้อเพลิงที่มากพอ ก็สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าพลังงาสะอาดได้ในอนาคต


bottom of page