หมอกจางๆ หรือควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้…
ประโยคคุ้นหูจากบางตอนของเนื้อเพลง “หมอกหรือควัน” ที่หลายคนน่าจะแวบขึ้นมาในความคิดอยู่บ่อยครั้งที่เห็นภาพหม่นๆ คล้ายฝ้าสีขาวปกคลุมท้องฟ้า แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถแยกออกว่า ภาพที่เห็นตรงหน้านั้นคือ “หมอก” หรือ “ควัน” กันแน่
👉จากคำอธิบายของเว็บไซต์สารานุกรมเสรี หรือวิกิพีเดีย อธิบายว่า ฝุ่นควัน หรือ ฟ้าหลัว หรือเมฆหมอก หรือหมอกแดด หมายถึง ลักษณะของอากาศที่ประกอบไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า (เช่น ฝุ่นละออง ควันจากไฟป่า ฝุ่นละอองจากยวดยานพาหนะในเมืองใหญ่ หรือไอเกลือจากทะเล) จำนวนมากล่องลอยอยู่ทั่วไป ทำให้มองเห็นอากาศเป็นฝ้าขาว ในบรรยากาศที่มีฝุ่นควันเกิดขึ้นจะทำให้ทัศนวิสัยลดลง
WMO ได้กำหนดลักษณะของสภาพอากาศที่ทำให้ทัศนวิสัยลดลงไว้เป็นหมวดหมู่ดังนี้คือ หมอก หมอกน้ำแข็ง หมอกไอน้ำ ไอน้ำ ฝุ่นควัน ควัน เถ้าภูเขาไฟ ฝุ่น ทราย และหิมะ
สำหรับฝุ่นควันที่มีความหนาแน่นสูง ที่เกิดขึ้นจากมลภาวะที่ประกอบด้วยสารเคมีหรือโอโซนมักจะถูกเรียกว่าหมอกควัน และฝุ่นควันจะมีความแตกต่างจากหมอกทั่วไป คือหมอกนั้นเกิดจากการที่มีความชื้นสูงในอากาศ เช่น ตอนเช้า หรือหลังฝนตก แต่ฟ้าหลัวจะเกิดจากอนุภาคขนาดเล็ก และเกิดในขณะอากาศแห้ง
ส่วน “หมอก” คือ กลุ่มละอองน้ำที่ลอยตัวอยู่ในระดับต่ำเหนือพื้นดิน ซึ่งเมฆบางครั้งก็ถูกพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของหมอก เช่น เมฆที่เคลื่อนตัวในอากาศระดับสูงจะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นหมอก ขณะที่เมฆเคลื่อนตัวมาแบบสัมผัสกับพื้นดิน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ ที่มีความสูงขนาดหนึ่ง จะถูกพิจารณาว่าเป็นหมอกมากกว่าเมฆ
แต่ปัญหาใหญ่ที่เกือบทั้งโลกกำลังเผชิญคือ “หมอกควัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ดูเหมือนจะประสบกับปัญหานี้ทุกปี โดยปัญหาหมอกควัน เกิดจากความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมพื้นที่ ทำให้ไออากาศร้อนไม่สามารถลอยตัวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศระดับสูงได้ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันกระจายตัวอยู่ในระดับพื้นดิน จนเกิดเป็นปัญหามลพิษที่สำคัญและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ
เหตุการณ์ The Great Smog of London ในปี 1952 ที่กินระยะเวลายาวนานถึง 5 วัน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 12,000 ราย แบ่งเป็น 4,000 รายในช่วงหมอกควันอันตรายปกคลุมเมือง และอีก 8,000 รายเสียชีวิตหลังจากได้รับผลกระทบจากมลพิษ และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเมืองในระยะยาว จะเห็นได้จากอัตราการเข้ารักษาและเสียชีวิตจากโรคปอดบวมและหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้นสูงมาก
ขณะที่ประเทศไทยก็ประสบปัญหาหมอกควันเช่นกัน จากสถิติการวัดค่าความขุ่นมัวของอากาศ พบว่าตั้งแต่ปี 2008 ถึงปี 2013 อากาศทุกภูมิภาคของประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะขุ่นมัวมากขึ้น โดยมีความสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ปี 2022 ที่ผ่านมา คนเมืองกรุงเทพฯ สูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่จำนวน 1,224.77 มวน งานวิจัยระบุว่าคนไทยเสียชีวิตจากฝุ่น PM2.5 ประมาณ 71,184 คนต่อปี
การป้องกันตัวเองจากปัญหาหมอกควันคือ การใส่หน้ากากกรองฝุ่นขนาดเล็ก หลีกเลี่ยงการออกนอกอาคาร หรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง พักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ แต่การแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ที่จะสร้างก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ชีวภาพ ชีวมวล ตามการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานสะอาดของกกพ. เพื่อลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน และคงถึงเวลาแล้วที่พวกเราควรจะรวมพลังเรียกร้องการมี “กฎหมายอากาศสะอาด” ให้เกิดขึ้นจริง เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน และหันมาช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง ช่วยกันลดปัญหาหมอกควันที่เคยเกิดขึ้นซ้ำซากจะได้บรรเทาเบาบาง ทุกคนจะได้ไม่ต้องตั้งคำถามว่า “หมอกหรือควัน” กันอีกต่อไป
🌥☘
ที่มา :
コメント