top of page

บราซิล นำอันดับ 3 ของโลกในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลที่มาจากชานอ้อย


“อ้อย” พืชเศรษฐกิจในหลายประเทศ ซึ่งในอดีตอ้อยถือเป็นวัตถุดิบทางการเกษตรที่ให้น้ำตาลสูง จึงเหมาะสมกับอุตสาหกรรมความหวานเท่านั้น แต่ในปัจจุบันบทบาทหน้าที่ของ “อ้อย” ได้เปลี่ยนไป เนื่องจากเราสามารถนำอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ ทำให้อ้อยในหลายประเทศมีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย


เป็นที่ทราบกันว่าเอทานอลซึ่งผลิตมาจากอ้อยนั้น เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพที่ให้ประสิทธิภาพสูงและมีวางจำหน่ายทั่วโลก โดยเอทานอล มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเชื้อเพลิงน้ำมันปิโตรเลียมแบบปกติที่ใช้ในการขนส่งถึงราวๆ 70% โดยบราซิลเป็นผู้ผลิตเอทานอลที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และมีตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงเอทานอลเพื่อการขนส่งที่ใหญ่ที่สุด และคาดการณ์กันว่าความต้องการเอทานอลจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต ยานพาหนะส่วนใหญ่ของประเทศบราซิลซึ่งคิดเป็นจำนวนประมาณ 70% มีความพร้อมรองรับการใช้งานเชื้อเพลิงเอทานอล และคาดกันว่าความต้องการเอทานอลของบราซิลจะเพิ่มขึ้นสูงไปถึง 70% ภายในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับความต้องการเอทานอลของประเทศบราซิลในปัจจุบัน

บริษัท บีพี บันกี้ ไบโอเอเนอร์เจีย บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ในประเทศบราซิล จะมีการเปิดโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 11 แห่งในบราซิล โดยตั้งเป้าปริมาณสกัดอ้อยรวมกันให้ได้ถึง 32 ล้านเมตริกตันต่อปี ทำให้การร่วมลงทุนนี้สามารถเลือกได้ว่าจะเน้นการผลิตเอทานอลและน้ำตาลมากน้อยเพียงใด อีกทั้งยังจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งคือชานอ้อย และจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับโรงงานผลิตเชื้อเพลิงทุกแห่งของบริษัท และจะขายไฟฟ้าส่วนเหลือใช้ที่ได้มาให้กับการไฟฟ้าของประเทศบราซิล ส่งผลให้ประเทศบราซิลเป็นประเทศที่นำ “ชานอ้อย” มาเป็นวัตถุเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากชีวมวลมากเป็นอันดับ 3 ของโลก


ทั้งหมดนี้คือทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดไปพร้อมกัน ซึ่งแน่นอนวัตถุประสงค์สำคัญนอกจากเรื่องของเศรษฐกิจ คือการเป็นส่วนหนึ่งในการลดสภาวะโลกร้อน โดยการหันมาใช้ประโยชน์ของพลังงานสะอาด ทั้งนี้ในประเทศไทยก็กำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมอบองค์ความรู้และผลักดันการใช้พลังงานสะอาดในด้านต่างๆ จากการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) ที่อยากเห็นทุกพื้นที่หันมาใช้พลังงานสะอาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ที่มา : https://shorturl.asia/1pRAI


bottom of page