
เมื่อชั้นบรรยากาศของโลกได้รับปริมาณก๊าซเรือนกระจกมากเกินไป จึงส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตไม่ว่าจะมนุษย์และสัตว์ต่างได้รับความเดือดร้อนเสียหายทุกหย่อมหญ้า ปัญหาโลกร้อน หรือภาวะความแปรปรวนของโลกจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนในโลกต่างให้ความสำคัญในการหาทางแก้ไข กู้โลกให้กลับคืนมาน่าอยู่อย่างเร่งด่วน
🌏ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงร่วมกันก่อตั้งกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) กำหนดเป้าหมายร่วมกัน “เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศไม่ให้เกินระดับที่จะเป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตและความมั่นคงทางอาหาร โดยทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันตามขีดความสามารถที่แต่ละประเทศจะทำได้”
ดูเหมือนกรอบแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนี้ยังคงไม่เพียงพอ ปี พ.ศ. 2558 จึงมีการรับรองความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพิ่มขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีสนั้นได้กำหนดกฎกติกาการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มข้นขึ้น โดยบังคับให้ทุกประเทศจัดส่งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรม หรือที่เรียกว่า “เป้าหมายการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศกำหนด” หรือ Nationally Determined Contribution (NDC) ทุกๆ 5 ปี
ประเทศไทยเองที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องในระดับประเทศ รวมไปถึงองค์กร หน่วยงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ ที่หันมาให้ความสำคัญกับนโยบายการดำเนินงานที่มีจุดมุ่งหมายไปสู่การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น
🔥การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคและอุปโภค อันทำให้เกิดการใช้บรรจุภัณฑ์ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อย่างถุงพลาสติก หลอด โฟม การรับประทานอาหารไม่หมด และบริการต่างๆ ล้วนเป็นการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต การคมนาคม การขนส่ง และภาคการเกษตร ที่หนักหนามากไปกว่านั้นการบุกรุกพื้นที่ทางธรรมชาติ การตัดต้นไม้ทำลายป่าอันเป็นการลดแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
พฤติกรรมจากการใช้ชีวิตประจำวันอันนำมาสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายให้กับโลกนี้ เราสามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้ โดยการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น เรียกการประเมินนี้ว่า Carbon Footprint โดยทั่วไปมีการคำนวณออกมาเป็นปริมาณน้ำหนักคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ล้วนมีส่วนทำให้เกิด Carbon Footprint
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ปัจจุบันเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตไปบ้าง เช่น เปลี่ยนจากการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวมาเป็นการเดินทางโดยรถไฟฟ้า การแยกขยะ การใช้ของรีไซเคิล การเปลี่ยนมาบริโภคอาหารจำพวกพืชอย่าง Plant Base แทนเนื้อสัตว์ ไปจนกระทั่งการไม่มีลูก!
จากงานวิจัยในปี 2017 ที่ตีพิมพ์ไว้ใน Environmental Research Letters เผยว่า การใช้ชีวิตแบบไม่ใช้รถยนต์สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้ 2.3 ตันต่อปี การกินอาหารจากพืชช่วยลดคาร์บอนได้ 0.8 ตันต่อปี และสำหรับการไม่มีลูก (ในประเทศที่พัฒนาแล้ว) สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 58.6 ตันต่อปี
ปัจจุบันพบว่า มีคู่รักจำนวนหนึ่งเลือกที่จะไม่มีลูก เพราะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากคนหนึ่งคนสามารถสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปริมาณมากอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว บรรดาคู่รักเหล่านั้นยังมีความคิดว่าไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่มีแต่ย่ำแย่มากขึ้นทุกปี
แม้ว่าการใช้ชีวิตของมนุษย์อาจเป็นตัวการหลักในการสร้างปริมาณก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จนทำให้หลายคนอาจไม่อยากมีลูกด้วยสาเหตุนี้ แต่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่อยากมีลูกเพื่อเติมเต็มความรักให้กับชีวิตครอบครัว ซึ่งทุกคนสามารถช่วยโลกได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างก๊าซเรือนกระจก ในที่สุดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะดีขึ้น เพราะโลกน่าอยู่ขึ้นได้ด้วยสองมือของเราทุกคน😍✌🏼
ที่มาข้อมูล :
https://climate.onep.go.th/en_US/knowledge/adaptation/
https://actionforclimate.deqp.go.th/news/4264/#
#คนบันดาลไฟ#คนบันดาลไฟ2023#ใครไม่ChangeClimateChange
#เปลี่ยนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า#พลังงานสะอาด#กกพ#cleanenergyforlife