top of page

ขี้หมูกู้โลก พลังงานก๊าซชีวภาพที่ไม่ธรรมดา



ปัญหาขี้หมูรบกวนชุมชนจากกลิ่นเหม็นและน้ำเสีย เป็นปัญหาท้าทายที่ฟาร์มหมูต้องเผชิญและหาทางแก้ไขปัญหาหรือป้องกันให้ได้ เพราะทุกการขับถ่าย ขี้หมูจะมีสารอินทรีย์มากมาย ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วชุมชนอย่างแน่นอน แต่ขี้หมูกลับมีประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสามารถเข้าสู่กระบวนการย่อยสลายในสภาวะไร้อากาศจนเกิดเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นก๊าซมีเทน สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นก๊าซหุงต้ม หรือเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้


ส่วนใหญ่ระบบจัดการของเสียในอดีตใช้ระบบบ่อบำบัดตามธรรมชาติและเป็นบ่อเปิด โดยขุดดินเป็นบ่อเก็บมูลและน้ำเสียจากการเลี้ยงหมูไว้เพื่อให้ธรรมชาติบำบัด แต่ก็มีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำและไม่สามารถจัดการปัญหาได้ทั้งหมด สำหรับฟาร์มที่มีเงินทุนก็จะใช้เครื่องมือกลมาช่วยในการบำบัดของเสีย เช่น ใช้เครื่องมือกลเพื่อเติมอากาศในบ่อบำบัด ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี แต่ก็มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษา รวมทั้งต้องใช้คนเพื่อคอยดูแลเครื่องมือกลเหล่านั้นอีกด้วย การจัดการของเสียในฟาร์มโดยวิธีการเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไรเลย แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อรับผิดชอบต่อชุมชนบริเวณรอบๆ ฟาร์มเพียงเท่านั้น


ในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้มีการแก้ที่ผลลัพธ์ ที่สามารถจัดการของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังได้ผลตอบแทนที่ดีจากการจัดการของเสีย นั่นคือ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพ โดยหลักการทำงานของระบบจะอาศัยกระบวนการในการหมักและย่อยสลายแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) ซึ่งมีกระบวนการง่ายๆ คือ การนำของเสียจากหมู เช่น มูล และน้ำเสีย จะถูกย่อยสลายเป็นกรดอินทรีย์และย่อยให้เล็กลงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งตัวที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายจะเป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า แบคทีเรีย ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ด้วยการกินของเสียและปล่อยกรดอินทรีย์ออกมา และจะมีแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งคอยกินกรดอินทรีย์แล้วย่อยสลายให้เกิดก๊าซชีวภาพออกมา


ก๊าซชีวภาพที่ผลิตออกมาจะมีองค์ประกอบที่สำคัญตัวหนึ่ง คือ ก๊าซมีเทน ซึ่งมีอยู่ในก๊าซชีวภาพประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ คุณสมบัติที่สำคัญของก๊าซมีเทน คือ สามารถติดไฟได้ และนั่นทำให้ฟาร์มแห่งนี้เกิดแนวคิดนำพลังงานก๊าซชีวมวลมาใช้ร่วมกับเครื่อง Generator เพื่อปั่นให้เกิดกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในฟาร์ม และถ้าการผลิตมีกำลังไฟที่เกินก็สามารถนำไปเก็บไว้ในแบตเตอรี่ได้อีกด้วย ซึ่งเจ้าของฟาร์มกล่าวว่าจากการลงมือทำ ฟาร์มแห่งนี้สามารถลดค่าไฟไปได้เกือบ 90% ซึ่งแต่ก่อนต้องจ่ายค่าไฟเดือนละประมาณ 10,000 บาท ซึ่งตอนนี้เหลือค่าใช้จ่ายเพียง 1,000 บาท โดยประมาณเท่านั้น


จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าจากมูลสุกรที่มีแต่คนรังเกียจ เมื่อมีระบบก๊าซชีวภาพเข้ามาช่วยในการจัดการแล้ว ก็กลับกลายมาเป็นแหล่งสร้างพลังงานทดแทนและสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกจากเรื่องเงินๆ ทองๆ แล้ว เจตนารมณ์ของผู้ที่เริ่มต้นวิจัยและออกแบบระบบก๊าซชีวภาพ คือ การรักษาสภาพแวดล้อมให้กับชุมชนบริเวณโดยรอบฟาร์ม


ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการเลือกนำพลังงานสะอาดที่เหมาะสมกับพื้นที่มาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ก่อเกิดประโยชน์และประหยัดได้ในเวลาเดียวกัน ที่สำคัญยังสามารถลดมลพิษทั้งในด้านของกลิ่น และของเสียจากน้ำเสียได้อีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาสังคมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนนั่นเอง


bottom of page